คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เบี้ยประกันภัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 35 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา (เบี้ยปรับ) และเบี้ยประกันภัยตามสัญญากู้ยืม: ศาลฎีกาวินิจฉัยขอบเขตการเรียกร้อง
สัญญากู้ยืมเงินมีใจความว่า ในระยะ 2 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ยคงที่ได้เพียงร้อยละ 5.25 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเว้นแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาหรือหลังจากนั้น โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และหลังจากล่วงพ้นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ จึงเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แต่สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด และยังอยู่ในช่วงระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379
จำเลยจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเบี้ยประกันภัย: พิจารณาแยกตามประเภทรถยนต์ที่ทำสัญญา
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำสืบว่ามีการทำสัญญาประกันภัยและระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากจำเลยผู้เอาประกันภัย ภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่มีการทำสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าเบี้ยประกันภัยเกิดเมื่อมีการจ่ายแทน การฟ้องเรียกค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตจึงไม่ชอบ
ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดว่า หากจำเลยไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองและโจทก์ได้จัดการเอาประกันภัยเอง จำเลยยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายแทนไปมาชำระจนครบถ้วน ดังนี้หากโจทก์ยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันอัคคีภัยแทนจำเลย จำเลยก็ยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยคืนแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปทุก ๆ สามปี จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในหนี้อนาคตที่ยังมิได้เกิดมีขึ้นและขณะฟ้องยังไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้โจทก์ชนะคดีน้อยกว่าเดิมทั้งที่โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเบี้ยประกันภัย และดอกเบี้ยเกินสิทธิในสัญญากู้
การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ปี 2547 หลังจากฟ้องคดีแล้วนั้น เป็นการฟ้องขอให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยที่จำเลยยังไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะได้ระบุจำนวนเบี้ยประกันภัยขอให้จำเลยชำระ ก็เป็นจำนวนที่โจทก์กำหนดขึ้นเองโดยยังมิได้มีการชำระแทนจำเลยไปจริง จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจบังคับให้ได้
ตามสัญญากู้เงินระบุว่า "ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี โดยยอมชำระนับแต่วันได้รับเงินกู้ไป? ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่ผู้ให้กู้จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้ว ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ข้างต้นได้ตามที่เห็นสมควรเมื่อใดก็ได้แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า" ความในสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ตลอดไป แต่โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ตามหนังสือสัญญากู้ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดในสัญญา การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มสูงขึ้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเบี้ยปรับ แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่โจทก์ต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 16 ต่อปี ตามที่ระบุในสัญญาไม่ได้
ศาลไม่มีหน้าที่ต้องคิดดอกเบี้ยและยอดเงินที่ถูกต้องให้โจทก์ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องคิดยอดมาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เมื่อโจทก์มิได้คิดมา ศาลก็ชอบที่จะยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 873/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้, การบังคับชำระหนี้, และสิทธิเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัย
ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 มีใจความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ได้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใดส่วนที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฯซึ่งมีข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่เรียกจากลูกค้าและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและจะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศไม่ได้นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีของธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงโจทก์ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ฯ การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 โดยมิได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยนี้ก่อน จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้
โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้ต่อเมื่อโจทก์ได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อนแล้วเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกสัญญาเช่าซื้อและการผิดสัญญา การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขชำระเบี้ยประกันภัยโดยฝ่ายเดียวเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้
สัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยผู้เช่าซื้อมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงตามบันทึกโดยอาศัยเหตุอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ในบันทึกนี้ การจะยกเลิกข้อตกลงนั้นจึงต้องมีเหตุอื่น ๆ อันจะเป็นหลักแห่งข้ออ้างในการเลิกข้อตกลง และเหตุอื่น ๆ นั้น น่าจะเป็นหรือเกิดจากการกระทำของคู่สัญญา ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการผิดเงื่อนไขข้อสัญญาแต่ประการใด ระยะเวลาให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยนั้นระบุไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้ง การเปลี่ยนระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัยของจำเลยนั้นเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบโดยไม่มีเหตุอันควรจะอ้าง จึงรับฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยไม่ชำระเบี้ยประกันเป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญา จำเลยย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือเตือนให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5540/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกความอธิบายเอกสารสัญญาเช่าซื้อ การรวมค่าเบี้ยประกันภัยในค่างวด ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
หนังสือสัญญาเช่าซื้อฉบับพิพาทระบุว่า ผู้เช่าซื้อตกลงชำระค่าเช่าซื้อวันละ 433.65 บาท และผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถยนต์โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมด ดังนี้การชำระเงินแต่ละงวดจำเลยจึงต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ด้วย การที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีของโจทก์มาเบิกความอธิบายในส่วนนี้ว่า การชำระค่างวดของจำเลย โจทก์ได้รวมค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไว้ในแต่ละงวดด้วย โดยค่างวดเช่าซื้อตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้จำเลยระบุว่าจำนวนเงิน 620 บาท แยกเป็นค่าเช่าซื้อ 433.65 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 145.79 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม40.56 บาท เพราะโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อได้ออกเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยผู้เช่าซื้อไปก่อนแล้วให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยคืนโจทก์พร้อมกับค่างวด มิใช่ค่าเช่าซื้ออย่างเดียวกรณีเป็นการเบิกความอธิบายข้อความในเอกสารใบเสร็จรับเงินที่จำเลยอ้าง มิใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยทบต้น-เบี้ยประกันภัย: สิทธิเรียกร้องตามสัญญา-ผลบังคับคดี
การตกลงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ที่ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้นำดอกเบี้ยที่ผู้กู้ค้างชำระไม่น้อยกว่า1ปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา655วรรคหนึ่งบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหาได้บัญญัติว่าข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้กู้กับผู้ให้กู้ไม่ดังนั้นหากข้อตกลงได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ฝ่ายเดียวย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่จำต้องให้ผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อด้วย ตามหนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อตกลงว่าผู้จำนองยินยอมจะเอาประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้ให้ผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยโดยผู้จำนองยินยอมเสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเองถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันภัยอัคคีภัยดังกล่าวและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยเองผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบถ้วนภายใน1เดือนนับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบจากข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยจะรับผิดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยไปหากโจทก์ยังไม่ได้ชำระก็ยังไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระคืนแก่โจทก์นอกจากนี้เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระนั้นเป็นเบี้ยประกันในอนาคตที่จำเลยยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระและยังไม่ทราบจำนวนเบี้ยประกันภัยที่แน่นอนและมิได้ระบุจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ขอให้จำเลยชำระจึงไม่ทราบว่าจำเลยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยไปจำนวนเท่าใดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกค่าเบี้ยประกันภัย: รายละเอียดไม่จำเป็นต้องระบุในฟ้อง, ประเด็นข้อหาต่างกันไม่เป็นฟ้องซ้อน, การยกข้อต่อสู้ในชั้นฎีกา
ในการฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยประกันภัยที่จะต้องส่งมอบแก่โจทก์ตามสัญญาตัวแทน และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันนั้น โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องว่า รถยนต์ที่รับประกันภัยแต่ละคันราคาเท่าใด จำนวนเบี้ยประกันภัยแต่ละคันเป็นเงินเท่าใด เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ไม่ทำให้ฟ้องเคลือบคลุม
คดีแรกโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่จำเลยที่ 1 เก็บมาจากลูกค้าของโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงินตามเช็ค ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าของโจทก์แล้วไม่นำส่งให้โจทก์ เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตัวแทนไม่นำส่งเบี้ยประกันภัยที่เรียกเก็บจากลูกค้าให้โจทก์ สภาพแห่งข้อหาของทั้งสองคดีต่างกัน แม้มูลหนี้จะสืบเนื่องมาจากเบี้ยประกันภัยเช่นเดียวกันก็ตาม ฟ้องโจทก์คดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบต้นฉบับเอกสาร ต้องห้ามมิให้รับฟัง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยค้างส่งเบี้ยประกันภัยนั้น ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้ค้างส่งเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นข้อนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนหรือไม่: สัญญาตัวแทนเรียกเก็บเบี้ยประกันภัย vs. เช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้มีมูลหนี้เดียวกัน
คดีแรกโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คที่จำเลยที่1สั่งจ่ายมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่จำเลยที่1เก็บมาจากลูกค้าของโจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยที่1ใช้เงินตามเช็คส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่1เป็นตัวแทนเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าของโจทก์แล้วไม่นำส่งให้โจทก์เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาตัวแทนไม่นำส่งเบี้ยประกันภัยที่เรียกเก็บจากลูกค้าให้โจทก์ซึ่งแม้มูลหนี้จะสืบเนื่องมาจากเบี้ยประกันภัยเช่นเดียวกันแต่สภาพแห่งข้อหาของทั้งสองคดีต่างกันจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
of 4