คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เปลี่ยนแปลงนายจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง: ข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมยังใช้ได้ แม้มีการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง และการยอมรับเงื่อนไข
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและสภาพการจ้างที่โจทก์ทำกับบริษัทน.ผู้เป็นนายจ้างเดิมของโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงสุดของค่าจ้างอัตราสุดท้ายถึง 18 เดือน เมื่อจำเลยซื้อกิจการจากบริษัทน. จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยต่อแสดงว่าจำเลยยอมรับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัทเดิมในเรื่อง ค่าชดเชยด้วย ทั้งตามสัญญาจ้างมิได้ระบุยกเว้นห้ามโจทก์ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัทเดิมไว้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทเดิมในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยกรณีมีการเลิกจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงสุด 18 เดือนของค่าจ้างอัตราสุดท้าย พยานเอกสารหมาย จ.1 เป็นสำเนาเอกสารมีการส่งข้อความ ทางโทรสารมาจากบริษัทน.จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งต้นฉบับเอกสารย่อมอยู่ที่บริษัทดังกล่าวในต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารหมาย จ.1 มาได้โดยประการอื่น ศาลแรงงานกลางย่อมอนุญาตให้โจทก์ นำสำเนาเอกสารหมาย จ.1 มานำสืบและฟังเป็นพยานหลักฐาน ของโจทก์ได้ ไม่ขัดกับบทบัญญัติของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) การที่ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและสภาพการจ้าง ของบริษัทจำเลยข้อ 4.1 ระบุว่า "แม้ว่าจะมีอะไรในนโยบายนี้ บริษัทมีสิทธิจะเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากสาเหตุอันสมควรนี้ เมื่อใดก็ได้ ในกรณีที่มีการเลิกจ้างเนื่องจากสาเหตุอันควรนี้ พนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง และไม่มีสิทธิ ได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ" นั้นเป็นการระบุกว้าง ๆ ไว้ โดยไม่ได้ระบุว่ามีสาเหตุอันสมควรประการใดบ้างที่นายจ้าง จะเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย กรณียังไม่ถือว่า ขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ในเรื่องค่าชดเชยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงนายจ้างและการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 (เดิม) กรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลจะต้องเป็นการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด แต่การที่จำเลยขายกิจการในแผนกคอนซูมเมอร์ เฮลแคร์ และโอนลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ไปทำงานกับบริษัทที่ซื้อกิจการนั้นมิใช่การเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลหรือมีผลเป็นการโอนหรือควบรวมนิติบุคคลกับบริษัทดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง แต่เป็นการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ซึ่งการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างจะกระทำได้ต่อเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอในการโอนสิทธิการเป็นนายจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ที่มีข้อความระบุว่า หากโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอการโอนสิทธิการเป็นนายจ้างภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 จำเลยจะสันนิษฐานว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะรับข้อเสนอ และข้อเสนอถือว่าถูกเพิกถอนไป โดยจำเลยจะไม่มีตำแหน่งให้โจทก์อีกต่อไป นับแต่วันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงหากโจทก์ไม่ตอบรับข้อเสนอของจำเลยภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การจ้างงานของโจทก์จะสิ้นสุดลงในวันที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์นั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า แต่เมื่อไม่ได้กำหนดวันที่จะเลิกจ้างไว้ให้ชัดเจนว่าจะเลิกจ้างโจทก์ในวันใด การบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 582