คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เปลี่ยนแปลงพื้นที่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การเปลี่ยนแปลงพื้นที่และหลักฐานจากคำพิพากษาศาลฎีกา
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19 บัญญัติว่า ผู้รับประเมินจะต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และมาตรา 24 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดประเภททรัพย์สิน ค่ารายปีกับค่าภาษีที่จะต้องเสียและให้พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ผู้รับประเมินทราบโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ มาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) ยังบัญญัติว่าผู้รับประเมินผู้ใดยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 ดังนั้นการแจ้งการประเมินย้อนหลังในกรณีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์แล้วจะต้องกระทำภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของปีภาษีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์
โจทก์ยื่นแบบพิมพ์แจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 ในปี 2532 ถึง 2536 ภายในกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโดยไม่ชักช้า หากเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นเพราะแจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติมหรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ทำการประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการประเมินย้อนหลังภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ มิใช่ภายในกำหนด 10 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับประเมินไม่ยื่นแบบพิมพ์ การที่พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2532 ถึง 2536 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 จึงเกินกำหนด 5 ปี
คลังพัสดุของโจทก์มีเนื้อที่ 3,360 ตารางเมตร เมื่อหักพื้นที่อาคารโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ออกแล้วคงเหลือพื้นที่อีก 98,944 ตารางเมตร ในส่วนพื้นที่ที่เหลือนั้น ได้มีคำวินิจฉัยในคดีก่อนว่าเป็นที่ว่างมิได้ใช้ปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นและอยู่กระจัดกระจายกันไป ทั้งบริเวณรอบอาคารคลังพัสดุมีรั้วล้อมรอบ พื้นที่ว่างนอกรั้วอยู่แยกต่างหากจากคลังพัสดุ โดยมีถนนทางรถไฟและคลองคั่น พื้นที่ดังกล่าวจึงมิใช่ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับอาคารคลังพัสดุ ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวรวมกับพื้นที่อาคารคลังพัสดุ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินต่อเนื่องกับคลังพัสดุแล้วประเมินค่าภาษีจากโจทก์ในปีภาษี 2540 อีก ย่อมไม่ถูกต้อง จึงต้องคำนวณค่ารายปีของอาคารคลังพัสดุใหม่ โดยถือตามจำนวนพื้นที่ของอาคารคลังพัสดุที่ฟังยุติแล้วในคดีก่อนมาเป็นหลักในการคำนวณ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1138/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายอาคารชุด: การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ส่วนกลาง (สวนหย่อม) ไม่ถือเป็นผิดสัญญา หากผู้ซื้อทราบและยินยอมโดยปริยาย
แม้จำเลยจะได้แสดงสวนหย่อมไว้ในใบโฆษณาและอาคารจำลองก็ตาม แต่เมื่อปรากฎว่าอาคารทุกหลังในโครงการที่จำเลยเสนอขายนี้ได้ตอกเสาเข็มไว้แล้วก่อนเปิดขาย มีเสาเข็มหลังละประมาณ 200 ต้น แต่ละต้นเหลือส่วนบนโผล่พ้นดินประมาณ 2 เมตร และโจทก์รู้เห็นว่าจะมีการก่อสร้างอาคารตรงที่ระบุว่าเป็นสวนหย่อม ทั้งโจทก์รับมอบห้องชุดจากจำเลยหลังทำสัญญาจะซื้อจะขาย 2 ปีเศษอาคารชุดที่พิพาทก่อสร้างไปได้ 3 ชั้นแล้ว การที่โจทก์รู้เห็นการก่อสร้างอาคารชุดที่พิพาทมาโดยตลอด แต่โจทก์ก็ยังคงเข้าทำสัญญาและติดต่อปฏิบัติตามสัญญาตลอดมาแสดงว่าโจทก์หาได้ถือว่า การจะมีสวนหย่อมหน้าอาคารชุดหลังที่โจทก์จะซื้อห้องชุดหรือไม่ ย่อมไม่เป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7697/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายห้องชุด: การเปลี่ยนแปลงพื้นที่และผลผูกพันตามสัญญา
การให้งดสืบพยานเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลยพินิจสั่งตามสมควรแก่กรณีเป็นเรื่อง ๆ ไป ถ้าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้วก็ไม่จำต้องนำสืบพยานหลักฐานใดอีก กรณีคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้อง คำให้การเอกสาร และคำเบิกความรับรองเอกสารของโจทก์ เห็นว่าเป็นการเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ต่อไป เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจทั้งนี้ก็เพื่อให้คดีดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 86วรรคสอง คำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้น จึงชอบแล้ว
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด เนื้อที่ประมาณ157 ตารางเมตร เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารชุดเสร็จปรากฏว่าห้องชุดมีเนื้อที่206 ตารางเมตรเศษ ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์จึงบอกปัดไม่ยอมรับมอบและชำระราคาห้องชุดดังกล่าว แต่จะขอรับมอบในพื้นที่ 157ตารางเมตร พร้อมกับชำระราคาส่วนที่เหลือตามพื้นที่เดิม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่า ผู้จะขายตกลงกับผู้จะซื้อห้องชุดเลขที่ 205 ชั้นที่ 2 คิดเป็นพื้นที่อันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจำนวนประมาณ 157 ตารางเมตร ตามที่ปรากฏในแผนผังของอาคารชุดที่ทำเครื่องหมายเส้นสีแดงที่แนบท้ายสัญญาและหากพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง คู่สัญญาตกลงให้เพิ่มหรือลดราคาลงตามอัตราส่วนของราคาซื้อขายดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าคู่กรณีคือโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะซื้อจะขายห้องชุดกัน โดยมิได้ถือเป็นสาระ-สำคัญว่าพื้นที่ของห้องชุดจะต้องมีเนื้อที่เพียงประมาณ 157 ตารางเมตร เท่านั้นหากพื้นที่เพิ่มหรือลดลง คู่สัญญาตกลงกันให้เพิ่มหรือลดราคาลงตามอัตราส่วนของราคาที่ตกลงซื้อขายกัน ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 466 วรรคสอง มิใช่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อปรากฏชัดว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงสัญญาอันเป็นข้อยกเว้นมิให้ใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นบังคับ โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันกันตามข้อสัญญาที่ตกลงกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกปัดไม่รับพื้นที่ห้องชุดที่เพิ่มขึ้นและเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 มอบห้องชุดในพื้นที่ที่ประมาณไว้ตามสัญญา ส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อสร้างห้องชุดเสร็จพร้อมส่งมอบแก่โจทก์ แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมชำระราคาห้องชุดดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบโดยไม่มีเหตุจะอ้างได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอย - การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
แผ่นพับโครงการของจำเลยเป็นการโฆษณาโครงการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยเพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป จะมีแผนผังโครงการ แสดงภาพจำลองโครงการและทางพิพาทเข้าออกโครงการ ทางพิพาทมีรูปต้นไม้เป็นแนวยาวข้างทาง ลักษณะเป็นถนนเข้าออกโครงการ และตามภาพถ่ายแสดงให้เห็นการสร้างป้อมยามรักษาความปลอดภัยถนนเข้าโครงการ ซึ่งจำเลยก็รับว่าจำเลยปรับถมดินก่อสร้างถนนเข้าออกระหว่างโครงการกับถนนราษฎร์บูรณะ ปลูกต้นไม้ตลอดแนวถนน ก่อสร้างป้อมยามรักษาความปลอดภัยบริเวณด้านหน้าถนนเข้าโครงการและขึ้นป้ายโฆษณาให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมโครงการ ทางพิพาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ดังนั้น แผ่นพับโครงการของจำเลยเป็นการโฆษณาของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้จะซื้อห้องชุดซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยว่า จำเลยจะมอบทางพิพาทเป็นถนนเข้าออกโครงการอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันให้ผู้จะซื้อห้องชุดเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้จะซื้อเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย จึงถือว่าแผ่นพับโฆษณาโครงการของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระหว่างผู้จะซื้อห้องชุดกับจำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11
แต่เมื่อพื้นที่โครงการอยู่ในเขตผังเมืองประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางที่ดินประเภท ย.6 (สีส้ม) จำเลยจึงต้องยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์และแก้ไขแผนผังโครงการใหม่ จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ย่อมจะมีความรู้ความชำนาญในการประกอบธุรกิจจำต้องศึกษาและตรวจสอบข้อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้องเสียก่อนที่จะดำเนินการโฆษณาและก่อสร้างอาคารชุด การที่จำเลยโฆษณาขายอาคารชุดก่อนการดำเนินการดังกล่าว ถือได้ว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จำเลยหลอกลวงปิดบังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นถนนในพื้นที่โครงการอันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ส่วนที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมีข้อสัญญาว่า ผู้จะขายสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังโครงการ...ทรัพย์ส่วนกลางได้ตามความเหมาะสม โดยผู้จะซื้อตกลงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาของผู้จะขายแต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ภายหลังจากมีผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังของโครงการที่เกินสมควรและไม่เป็นธรรมต่อผู้จะซื้อห้องชุดกับจำเลยที่หวังจะได้ทางพิพาทเป็นพื้นที่ในโครงการเป็นทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้อาศัยในอาคารชุด จำเลยจึงไม่อาจยกข้อสัญญาดังกล่าวขึ้นอ้างปฏิเสธความรับผิดของจำเลยได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับโจทก์ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยก่อนที่จำเลยปรับเปลี่ยนแผนผังโครงการ