พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3818/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเปิดทางเข้าออกที่ดิน: การชำระเงิน การมีผลผูกพัน และการคืนเงินเมื่อสัญญาเป็นโมฆะ
ข้อตกลงของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ข้อ 8 ระบุว่า นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีคณะกรรมการจัดสรรหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้แทนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และข้อ 19 ระบุว่า "การลงลายมือชื่อเพื่อให้มีผลผูกพันนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ให้ปฏิบัติดังนี้ (2) การทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ ให้ลงลายมือชื่อของประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกสองนาย และประทับตรานิติบุคคล" และข้อ 20 ระบุว่า "คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) เป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ (2) เป็นผู้แทนของนิติบุคคลในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก" และตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้" และมาตรา 44 บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลำดับ ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามพระราชบัญญัตินี้หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการและดูแลบำรุงรักษา ภายในเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้จัดสรรที่ดิน" จำเลยที่ 1 ถูกจัดตั้งเพื่อจัดการและดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อจากผู้จัดสรรที่ดิน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 43 ดังกล่าว คือ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ การที่จำเลยที่ 2 ประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ โดยยินยอมเปิดรั้วคอนกรีตที่ซอย 9 หน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 108391 และ 5200 เพื่อประโยชน์ของบุคคลที่อาศัยอยู่ในที่ดินสองแปลงดังกล่าวใช้ถนนตามภาระจำยอมของที่ดินจัดสรรเป็นทางเข้าออก แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะมิใช่เป็นการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะทั้งหมดหรือบางส่วนให้เป็นสาธารณประโยชน์ หรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือบุคคลอื่นซึ่งจะต้องมีมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้ดำเนินการได้โดยมติดังกล่าวต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าของสิทธิในที่ดิน และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครตามกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545 ข้อ 16 และข้อบังคับของนิติบุคคลของหมู่บ้านจัดสรร ข้อ 48 (2) ก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ว่าข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลง เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งถนนภาระจำยอมของที่ดินจัดสรรลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่การใช้สอยของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของหมู่บ้านดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงกระทำมิได้ ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ประธานกรรมการนิติบุคคลลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับโจทก์และประทับตรานิติบุคคล โดยมีกรรมการอื่นอีก 3 คน ลงลายมือชื่อเป็นพยานนั้น ก็ถือไม่ได้ว่ากรรมการอื่นดังกล่าวลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการนิติบุคคลตามความหมายในข้อบังคับของนิติบุคคลของหมู่บ้านจัดสรร ข้อ 19 (2) อันทำให้มีผลผูกพันนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด นอกจากนี้คณะกรรมการยังต้องดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกอีกด้วย ตามข้อ 8 และข้อ 20 (1) แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการตามมติของสมาชิกนิติบุคคลเกี่ยวกับการเปิดรั้วคอนกรีตที่ซอย 9 ด้วยเสียงข้างมากของสมาชิกผู้มีสิทธิในที่ดิน จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลง กับโจทก์ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่หรือตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกนิติบุคคลตามข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร บันทึกข้อตกลง จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1
ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ระบุว่า "...ผู้ให้ข้อตกลงยินดีมอบเงินอีกจำนวน 200,000 บาท... แก่นิติบุคคลฯ ภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้" และ ฝ่ายโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 2 งวด เป็นเงิน 1,200,000 บาท แต่การที่จำเลยที่ 1 นำเงิน 1,000,000 บาท มาวางศาลเพื่อคืนให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลโดยยอมรับผิด การวางเงินเช่นว่านี้ไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ระบุว่า "...ผู้ให้ข้อตกลงยินดีมอบเงินอีกจำนวน 200,000 บาท... แก่นิติบุคคลฯ ภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้" และ ฝ่ายโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 2 งวด เป็นเงิน 1,200,000 บาท แต่การที่จำเลยที่ 1 นำเงิน 1,000,000 บาท มาวางศาลเพื่อคืนให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลโดยยอมรับผิด การวางเงินเช่นว่านี้ไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย