คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เพลง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลง: ศาลตัดสินว่าไม่ใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน แต่เป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมด
โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงให้แก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และทำบันทึกต่อท้ายสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงว่า หากจำเลยได้ขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว จำเลยจะแบ่งผลประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ได้รับจากการขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ เป็นกรณีที่เห็นได้ว่าค่าตอบแทนจำนวน 200,000 บาท ที่ระบุในสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้น น้อยเกินไป แต่ขณะเดียวกันจำเลยผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นก็ไม่ต้องการจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่านี้ในขณะทำสัญญา จึงเลือกให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลงดังกล่าวในอนาคต ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยตกลงทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นอันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ฉะนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยเจตนาลวงของโจทก์ที่ 1 กับจำเลยซึ่งมีเจตนาจะอำพรางสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนตามที่โจทก์ที่ 1 อ้าง แต่เป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์อีกต่อไป แต่คงมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนลิขสิทธิ์เพลง: สิทธิของผู้รับโอนและเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์
เมื่อสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทของโจทก์ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นในระหว่างนั้นกรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ดังกล่าว ข้อความตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงที่พิพาทที่ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับระบุว่า ผู้ประพันธ์ตกลงโอนขายและห้างตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามที่ระบุในสัญญา การโอนขายนี้จึงเป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์และบทเพลงพิพาทเป็นงานดนตรีกรรม ซึ่งไม่ต้องบังคับตามมาตรา 18 และมาตรา 19 ข้อสัญญาดังกล่าว จึงมีความหมายว่า เป็นการโอนลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 วรรคแรกเมื่อปรากฏว่าขณะพิจารณาคดีนี้ ค.ผู้สร้างสรรค์บทเพลงพิพาทยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับดังกล่าวนี้ได้ โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทรวมกับบทเพลงอื่นจากด.ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ แต่เหตุที่จำเลยนำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิในลิขสิทธิ์เพลงพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนา กระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2529

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสันนิษฐานเรื่องลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังไม่ได้ว่าโจทก์ยังมีลิขสิทธิ์ได้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา28เพียงสันนิษฐานว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในบทเพลงที่โจทก์ฟ้องเท่านั้นไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ยังมีลิขสิทธิ์ในเพลงตามฟ้องจึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18527/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลง: การทำซ้ำ, ดัดแปลง, อนุญาตใช้สิทธิ, และความเสียหายต่อชื่อเสียง/เกียรติคุณ
การที่จำเลยจงใจและอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ที่โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ตามคำฟ้อง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบดีว่าโจทก์มิได้โอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ดังกล่าวแก่จำเลยนั้น แม้จะมิใช่การทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเพลงอันเป็นงานดนตรีกรรมที่โจทก์มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์อันจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยจงใจทำต่อโจทก์โดยไม่มีสิทธิและผิดต่อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่มิได้ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดดังกล่าวแก่โจทก์
เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสิบห้าเพลงดังกล่าวซึ่งเป็นเพลงส่วนหนึ่งของเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องและยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์มิได้โอนลิขสิทธิ์ให้จำเลย การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายซีดีเพลงดังกล่าวเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และการที่จำเลยโดยรู้อยู่แล้วได้นำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้ายังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย เมื่อโจทก์พบการกระทำของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 จึงเป็นการฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63
การชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 การที่จำเลยนำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากกำไรที่ได้มาจากการขายซีดีดังกล่าวโดยไม่ต้องแบ่งผลกำไรนั้นให้แก่โจทก์ และโจทก์ย่อมสูญเสียประโยชน์ในการแสวงหากำไรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ด้วย แต่ผลกำไรที่จะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายก็ต้องหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายออกเสียก่อนด้วยเช่นกัน ทั้งยังต้องคำนึงถึงการที่ซีดีแต่ละชุดมิได้ประกอบด้วยเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหมด จึงต้องเทียบตามสัดส่วนของเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ในแต่ละชุดด้วย เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนเพลงทั้งหมด 6 ชุด จำนวนชุดละ 14 เพลง รวมจำนวน 84 เพลง แล้ว จะเป็นสัดส่วนเพลงของโจทก์ประมาณร้อยละ 10 ของเพลงทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อเพลงของโจทก์ทั้งเก้าเพลงดังกล่าวเป็นเพลงดังในอัลบั้มเพลงจำนวน 4 ชุด ในจำนวน 6 ชุด ดังกล่าวซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพลงทั้งเก้าเพลงนี้ย่อมมีความสำคัญกว่าเพลงอื่น จึงเห็นควรกำหนดความสำคัญของเพลงโดยการเทียบสัดส่วนกับเพลงอื่น ๆ ในจำนวน 6 ชุด นั้นเป็นร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมด เพื่อนำไปหาค่าเฉลี่ยผลกำไรที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับสำหรับการกำหนดค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้นำสืบถึงผลกำไรที่หักต้นทุนเพื่อให้เห็นถึงผลกำไรที่แท้จริงก็ตาม แต่ได้ความว่าโจทก์ขายแผ่นซีดีที่มีเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แผ่นละ 100 บาทเศษ หากขายได้ 50,000 แผ่น จะได้กำไรแผ่นละ 30 บาทเศษ อัตราผลกำไรดังกล่าวเป็นอัตรากำไรที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ จึงเห็นสมควรนำมาเทียบเคียงและกำหนดค่าประมาณในการคำนวณหาผลกำไร โดยกำหนดผลกำไรให้เป็นอัตราร้อยละ 30 ของยอดขายจำนวน 36,000,000 บาท ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้โต้แย้ง เมื่อคำนวณแล้วได้ผลกำไรจากการขายเพลงทั้งหมดในซีดีทั้งหกชุดเป็นเงินจำนวน 10,800,000 บาท เมื่อนำสัดส่วนเพลงดังของโจทก์ซึ่งเท่ากับร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมดมาคำนวณจากผลกำไรดังกล่าวแล้ว จะได้ค่าเสียหายที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับจากกำไรเป็นเงิน 2,160,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 2,160,000 บาท
การที่จำเลยแอบอ้างว่าโจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงจำนวนดังกล่าว จำเลยนำเพลงนั้นไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จำนวน 15 ฉบับ และที่จำเลยอ้างต่อบริษัทที่จัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ว่าเพลงที่จัดเก็บลิขสิทธิ์นั้นเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย กับการที่จำเลยได้ทำซ้ำและดัดแปลงงานเพลงจำนวน 15 เพลง อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้วผลิตเป็นซีดีสิ่งบันทึกเสียงเพลงออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้นมิใช่การละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์โดยการบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นในลักษณะเดียวกันจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าวเพราะจำเลยมิได้ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องหรือทำนองเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเนื้อร้องหรือทำนองเพลงที่โจทก์ได้แต่งขึ้นในลักษณะที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ลามก หรือให้ผิดเพี้ยนไปจากที่โจทก์ประสงค์จะสื่อสารไปถึงผู้ฟังเพลงแต่อย่างใด ทั้งการกระทำดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมในอันที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวโดยมิชอบ เพราะจำเลยยังคงระบุในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงจำนวน 15 ฉบับ ว่าโจทก์เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองเพลงดังกล่าว มิได้บิดเบือนว่าจำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 15 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9602/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง การชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการบังคับสิทธิ
การฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทจำเลยที่ 2 หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ดนตรีกรรม ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว ดังนั้น งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมแล้ว โดยไม่นำคุณค่าของงานดนตรีกรรมมาเป็นเงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ หรือผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเสร็จ เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงโดยเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอย งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงชื่อเพลง "หนุ่มดอย" ซึ่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า "ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ซึ่งการเปิดครั้งหนึ่งจะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 4 ครั้ง ตอนท้ายของเพลงจะเล่นซ้ำท่อนสร้อยเฉพาะข้อความว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ส่วนเพลง "เด็กดอยใจดี" ของจำเลยทั้งสามที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา... ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา" และในการเปิดเพลงเด็กดอยใจดี 1 ครั้ง จะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 3 ครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ซึ่งการมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อย คำร้องและทำนองในท่อนสร้อยหรือท่อนฮุกของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีจึงเป็นสาระสำคัญของเพลง เมื่อเพลงเด็กดอยใจดีมีเนื้อร้องคำว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ในท่อนสร้อยและคำว่า "ลา ลันลา" ในตอนท้ายเช่นเดียวกับเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยที่ 3 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายอัลบัมเพลงที่ประกอบด้วยเพลงเด็กดอยใจดีโดยว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ รวมทั้งงานอื่นใดอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจัดสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองแพร่ภาพแพร่เสียงแทนผู้ผลิตในสื่อต่าง ๆ แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรู้จักเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ และทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการตลาด จึงต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยให้เป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิง ช. ขับร้อง แล้วจัดทำเป็นซีดีออกจำหน่ายจนประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และ 31 (1) ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเพลงของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นความเสียหายในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ ซึ่งความเสียหายด้านชื่อเสียงตามฟ้องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือกระทำอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธินั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามจำนวนที่เห็นสมควร รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างทนายความและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ในความหมายของมาตรานี้
เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนและอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมของโจทก์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายซีดีและวีซีดีซึ่งมีเพลงที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และได้กำไรจากการอนุญาตให้ผู้อื่นนำเพลงไปให้บริการริงก์โทนแก่บุคคลทั่วไปเป็นผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต มีผลเสียหายต่อการตลาดของโจทก์ ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่าผลประโยชน์ที่เป็นกำไรซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่ให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ในทำนองซึ่งจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งใช้เฉพาะคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงผ่านระบบแชร์เน็ตเวิร์ค: โจทก์ต้องพิสูจน์การกระทำความผิดฐานทำซ้ำ ไม่ใช่แค่เผยแพร่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ร่วมโดยการนำเอาเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามฟ้องมาทำซ้ำลงในหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) แล้วติดตั้งในระบบเอ็มพี 3 ใช้ระบบแชร์เน็ตเวิร์ค ซึ่งเมื่อใช้แผ่นซีดีที่มีเพลงเอ็มพี 3 ใส่เข้าไปในหน่ายประมวลผลกลางแล้วพ่วงกับหน่วยประมวลผลกลางอื่นสามารถเรียกเพลงออกมาฟังได้โดยมีสัญญาภาพออกมาทางจอมอนิเตอร์เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้า ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 และ 68 แสดงว่า โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในการทำความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงซึ่งไม่ใช่เรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพราะงานที่ถูกบรรจุใหม่ในหน่วยประมวลผลกลางนั้นเป็นงานที่ถูกทำซ้ำขึ้นมาใหม่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การเผยแพร่งานที่บรรจุไว้ในหน่วยประมวลผลกลางดังกล่าวต่อสาธารณชนจึงไม่ใช่ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (2) และไม่อาจถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้ลงโทษจำเลยในเรื่องการเผยแพร่งานซึ่งได้ทำขึ้นมาใหม่โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรทางการด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายมาตรานี้ไว้ในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5125/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนลิขสิทธิ์เพลง: ศาลฎีกาวินิจฉัยโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เนื่องจากมีพฤติการณ์ยอมรับการโอนสิทธิ์
โจทก์กล่าวอ้างถึงสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงซึ่งมีรายชื่อเพลงพิพาทแนบท้ายโดยไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว แต่กล่าวอ้างถึงบันทึกข้อตกลง แต่เมื่อฝ่ายจำเลยนำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงมาถามค้าน โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้ง จึงฟังได้ในเบื้องต้นว่า สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงตามที่โจทก์กล่าวอ้างมีข้อความตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงที่จำเลยอ้าง ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีข้อความแสดงอยู่ว่า เป็นข้อตกลงในการโอนลิขสิทธิ์เพลงพิพาท โจทก์ทราบข้อความในเอกสารดีแล้ว จึงตกลงทำสัญญาด้วยการลงชื่อในเอกสารดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในทำนองว่า โจทก์ถูกฉ้อฉลหลอกลวงและเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจึงมีน้ำหนักน้อย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า โจทก์ประพันธ์และร้องเพลงให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ประมาณ 60 เพลง ห้างดังกล่าวเป็นผู้ลงทุนรวมทั้งจัดหานักดนตรี ห้องอัดเสียง และจัดจำหน่ายแผ่นเสียง โจทก์ทำหน้าที่เป็นนักร้องและดูแลให้การผลิตเพลงออกมาถูกต้องตามที่โจทก์ประพันธ์ หลังจากที่วางจำหน่ายและโฆษณาประชาสัมพันธ์เพลงเป็นที่นิยมแล้ว จะมีบุคคลว่าจ้างโจทก์ไปร้องเพลง ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบถึงการดำเนินธุรกิจของห้างดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่มีการนำเพลงของโจทก์ไปใช้ประโยชน์มาตลอด สำหรับข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้ไปขึ้นทะเบียนรับทราบข้อมูลลิขสิทธิ์เพลง การที่โจทก์ขึ้นทะเบียนดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังเป็นหลักฐานได้ว่า ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทเป็นของโจทก์ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงกลับปรากฏต่อไปว่า หลังจากนั้นได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงขึ้น ซึ่งมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ยอมรับในการโอนลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทดังกล่าว แต่ในประเด็นนี้โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า โจทก์ไม่เคยเห็นและไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.3 ทั้งๆ ที่เอกสารดังกล่าวมีข้อความเช่นเดียวกับบันทึกข้อตกลงในการโอนลิขสิทธิ์เพลงพิพาท คำเบิกความของโจทก์จึงมีข้อพิรุธน่าสงสัย ทำให้ข้อกล่าวอ้างว่าโจทก์ถูกฉ้อฉลหลอกลวงให้ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อถือ อนึ่ง ที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในช่องผู้รับอนุญาตเป็นลายมือชื่อของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้เห็นข้อความนั้นเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์เคยมาขออนุญาตเพื่อใช้เพลงพิพาท อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมามีน้ำหนักน้อย และน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ตกลงโอนลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทไปแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงพิพาทอีก