คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เพิกถอนการประเมิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีสรรพสามิตหลังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิกถอนการประเมิน และสิทธิขอคืนรถยนต์ของผู้ไม่เป็นผู้กระทำผิด
เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีสรรพสามิตต่อโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน จำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านการประเมินดังกล่าว ผลจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทำให้โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องชำระภาษีสรรพสามิตตามการประเมินอีก เมื่อไม่มีการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิต จึงไม่มีการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่โจทก์จะฟ้องคัดค้านต่อศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้แก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ถูกยึดไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 161 (1) โจทก์จึงมีสิทธิขอรับรถยนต์ของกลางคืนตามมาตรา 123 วรรคสอง การที่เจ้าพนักงานไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนรถยนต์ของกลางได้ตามมาตรา 96
เมื่อเจ้าพนักงานมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 123 การที่เจ้าพนักงานไม่คืนรถยนต์ของกลางให้โจทก์ตามที่โจทก์ขอหลังจากที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์แล้ว การยึดรถยนต์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์อันควรได้จากการใช้สอยรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่มิชอบ ผู้เสียภาษีมีสิทธิฟ้องเพิกถอนการประเมินได้ แม้ไม่ได้อุทธรณ์ก่อน
ประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดใหม่ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการประเมินใหม่โดยยกเลิกการประเมินครั้งก่อนเนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินมิได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แม้การประเมินที่ผิดพลาดดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ยกเลิกการประเมินในครั้งแรกแล้ว ต้องถือเสมือนว่าไม่มีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่จะให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไป การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำหน่ายคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว
การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในครั้งใหม่ยังประเมินให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับเท่าเดิม คงมีส่วนเงินเพิ่มเท่านั้นที่ประเมินให้โจทก์ชำระเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนด เมื่อการประเมินครั้งใหม่ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงไม่เป็นการประเมินซ้ำซ้อนหรือทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน
อธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้สรรพากรภาคปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอนุมัติขยายเวลาประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคท้าย เมื่อสรรพากรภาคปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคมและกรกฎาคม 2538ได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี และเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มลงวันที่ 16 มิถุนายน 2541 โดยโจทก์ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนด
การที่เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องเสียโดยไม่ชอบทำให้โจทก์มีภาษีที่ชำระเกิน โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลที่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1กรมสรรพากรจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์
โจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้คำนวณภาษี เป็นเหตุให้โจทก์ถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีปลอมตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(7) แต่ไม่ต้องเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนหรือนำส่งคลาดเคลื่อนหรือของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(3) และ (4)ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง ระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.45/2536 เพราะการใช้ใบกำกับภาษีปลอมย่อมเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอยู่ด้วยในตัว
การที่เจ้าพนักงานประเมินให้ผู้เสียภาษีอากรรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่มีอำนาจหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้ผู้เสียภาษีต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียตามกฎหมายต้องถือเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มีการประเมินหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนั้นที่โจทก์ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี: คดีเพิกถอนการประเมินภาษีค้างพิจารณา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเก็บภาษี
โจทก์โดยเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระภาษีให้โจทก์จำนวนหนึ่ง จำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวแล้ว ซึ่งศาลอาจมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิกถอนการประเมินของโจทก์หรือไม่ อย่างไรก็ได้เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด จึงฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค่าภาษีโจทก์ตามที่มีการประเมินไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีตามที่มีการประเมิน อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้โดยตรง ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142(5).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี: เมื่อมีคดีเพิกถอนการประเมินภาษีแล้ว โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับชำระภาษี
คดีก่อนที่จำเลยฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของจำเลยนั้น ศาลอาจมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิกถอนการประเมินของโจทก์ หรือไม่ อย่างไรก็ได้ เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดจะถือว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีแก่โจทก์ตามที่มีการประเมินหาได้ไม่คดีนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีตามที่มีการประเมินดังกล่าว อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้โดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4604/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขอคืนเงินภาษีอากรต้องรอการเพิกถอนการประเมินก่อน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหากมิได้อุทธรณ์การประเมิน
คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าภาษีอากรที่ได้ชำระไปแล้วตามหนังสือแจ้งการประเมินนั้น ศาลจะพิพากษาคืนให้โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อการประเมินนั้นได้ถูกเพิกถอนไปแล้วเท่านั้น ตราบใดที่การประเมินของเจ้าพนักงานยังมีผลอยู่โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินการที่โจทก์ฟ้องขอให้คืนเงินค่าภาษีอากรที่ชำระไปตามหนังสือแจ้งการประเมินนั้นเป็นคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการประเมินเป็นเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ผลตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรและเมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินยังมีผลอยู่ เงินค่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระไปตามหนังสือแจ้งการประเมินจึงเป็นการชำระหนี้ภาษีอากรที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดโจทก์ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกล่าวอ้างขึ้นเป็นข้อเรียกร้องขอคืนได้ที่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินค่าภาษีอากรให้โจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2494

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีภาษีเงินได้เกินอำนาจศาลแขวง: การเพิกถอนการประเมินภาษีและคืนเงินที่ชำระแล้ว
โจทก์ฟ้องประกอบด้วยคำขอท้ายฟ้อง แสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินภาษี เงินได้ประเมินภาษีเงินได้ให้โจทก์ชำระเงิน 71,936.10 บาทเป็นการไม่ถูกต้อง จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษี71,936.10 บาท ซึ่งโจทก์ได้นำเงินไปชำระแล้วนั้นเสียดังนี้ ผลของคำพิพากษาในเมื่อโจทก์ชนะคดีก็คือโจทก์ย่อมได้รับเงินที่ชำระไว้แล้วคืน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 เกินอำนาจศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษาได้