พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8306/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเรียกคืนการให้โดยเสน่หาจากกรณีการประพฤติเนรคุณจากการใช้ถ้อยคำด่าทอ แม้ไม่สุภาพ แต่ไม่ถึงขั้นหมิ่นประมาท
จำเลยซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติห่าง ๆ ของโจทก์ทั้งห้า ได้รับการยกให้ที่ดินตามฟ้องจากโจทก์ทั้งห้าโดยเสน่หา ต่อมาโจทก์ทั้งห้าได้ไปต่อว่าจำเลยในเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ถูกจำเลยกล่าวหาว่าย้ายหลักหมุดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย ทำให้จำเลยมีโทสะ ด่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า "อีพวกดอกทอง ไม่ต้องมายุ่งเรื่องของกู มึงออกไป ออกไปจากบ้านกู" นั้น เป็นถ้อยคำซึ่งโดยวิสัยชาวบ้านที่ใช้ด่ากัน ดังนี้ แม้ถ้อยคำเช่นนั้นจะไม่สุภาพและไม่สมควรที่จะกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ก็ไม่อาจรับฟังได้ถึงขั้นว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งห้าอย่างร้ายแรง อันจะเป็นเหตุประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะเรียกถอนคืนการให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประพฤติเนรคุณและการเรียกคืนการให้: การไม่เลี้ยงดูผู้ให้ยากไร้ไม่ใช่เหตุประพฤติเนรคุณหากผู้ให้ไม่ได้ร้องขอ
การกล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้และเป็นผู้ยากไร้เมื่อจำเลยสามารถจะให้ได้นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ขอสิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตต่อจำเลยแล้ว จำเลยบอกปัดไม่ยอมให้และเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมิได้นำสืบและอุทธรณ์ในข้อนี้แสดงว่าจำเลยยอมรับ และมิใช่หน้าที่ศีลธรรมอันดีของผู้รับการให้จะพึงปฏิบัติต่อผู้ให้ด้วยการให้สิ่งตอบแทนแก่ผู้ให้ตามวิสัยแต่อย่างใดดังนั้น การที่โจทก์แยกไปอยู่กับ ซ. แล้วจำเลยไม่ตามไปเลี้ยงดูโจทก์ จะฟังว่าจำเลยแสดงเจตนาบอกปัดไม่ยอมเลี้ยงดูให้สิ่งของจำเป็นแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้ และจำเลยสามารถให้ได้อันเป็นการประพฤติเนรคุณที่จะเรียกถอนคืนการให้หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเรียกคืนการให้เนื่องจากผู้รับประพฤติเนรคุณ ต้องเข้าเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 531 เท่านั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสัญญาไม่เคยให้ความช่วยเหลือ โจทก์ต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนบ้านเพื่อประทังชีพ ถือว่าจำเลยประพฤติชั่วและเนรคุณโจทก์ ขอให้จำเลยโอนที่ดินที่โจทก์ยกให้โดยเสน่หาแก่จำเลยคืนโจทก์ จำเลยไม่ยินยอมกลับพูดจาเสียดสีด่าว่าโจทก์ แต่การเรียกถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณมีเพียงกรณีที่ผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้รับทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเลยเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ไม่เข้าเหตุที่จะเรียกถอนคืนการให้ตามที่บัญญัติไว้ดังกล่าวไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินที่โจทก์ยกให้คืนแก่โจทก์ได้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2531
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหมิ่นประมาทและประพฤติเนรคุณทำให้เรียกคืนการให้ได้ ศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
จำเลยด่าว่าโจทก์ผู้เป็นมารดาด้วยถ้อยคำหยาบคายว่าโจทก์เป็นสุนัขเป็นคนไม่มีศีลธรรม ให้ที่ดินแล้วยังเอาคืนเป็นคนเนรคุณคน เช่นนี้ เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถือได้ว่าประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์เรียกคืนการให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 411/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเรียกคืนการให้ที่ดินเนื่องจากบุตรไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและประพฤติเนรคุณ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่าย
โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจำเลยได้จดทะเบียนยกที่ดินมีโฉนดพร้อมเรือนหนึ่งหลังในที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของที่ดินที่ยกให้นั้น ให้แก่พี่สาวของจำเลย แต่ต่อมาเมื่อจำเลยได้ขอแบ่งแยกโฉนดส่วนที่จะยกให้แก่พี่สาวจำเลยแต่ไม่ยอมจดทะเบียนยกให้ตามที่ตกลงไว้ ก็เป็นเพียงการผิดข้อตกลงที่ทำไว้ด้วยวาจาแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เกิดความเสียใจที่บุตรมิได้ปฏิบัติตามคำพูดที่ให้ไว้แก่โจทก์ เนื้อแท้แห่งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรงถึงขนาดจะเรียกถอนคืนการให้ได้ ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531(2) ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2499
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องเรียกคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณ คำฟ้องไม่เคลือบคลุมแม้ขาดรายละเอียดเวลา-สถานที่
บรรยายฟ้องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณว่า ผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแต่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ดังนี้ถือว่าสมบูรณ์พอแล้ว หาเป็นเคลือบคลุมไม่ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเวลา สถานที่ นั้นเป็นข้อที่จะพึงนำสืบประกอบหาจำต้องระบุไว้ในฟ้องไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเรียกคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณและการเพิกถอนการโอนฉ้อฉล ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่าง
กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) เป็นการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงนั้น มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับกล่าวถ้อยคำอย่างไร เมื่อใด ต่อใคร เพื่อเป็นข้อที่จะให้ศาลพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้หรือไม่ ลำพังแต่การบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายครั้ง โดยไม่มีรายละเอียดว่า ด่าว่าอย่างไร เหตุเกิดเมื่อใด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ให้การต่อสู้ว่า ฟ้องในส่วนนี้เคลือบคลุม แม้โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" และกล่าวว่า "มึงเอาน้ำกูไปใช้กี่ครั้งแล้ว" แต่ตามคำเบิกความของโจทก์ก็ปรากฏว่า โจทก์จำวันเวลาเกิดเหตุไม่ได้ ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัด และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะไปนำสืบในรายละเอียดได้ ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม และเมื่อฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" คำนี้จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทที่โจทก์จะนำสืบได้ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้คำพูดระหว่างการไกล่เกลี่ยเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ และมีผลต่อการเรียกคืนการให้หรือไม่
ถ้อยคำที่จำเลยด่าว่าโจทก์ขณะที่มีข้อโต้เถียงกันในระหว่างการไกล่เกลี่ยคดีอื่นอันมิใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความคดีดังกล่าวนำมาเป็นข้อพิจารณาในคดีนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยของผู้ประนีประนอมในศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวจึงนำถ้อยคำที่จำเลยแถลงระหว่างการไกล่เกลี่ยนั้นมาอ้างอิงหรือนำสืบเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ต่อศาลในคดีนี้ได้ ไม่ถือว่าเป็นความลับอันต้องห้ามตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2554 ข้อเท็จจริงดังกล่าวนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ภายใต้บังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85