พบผลลัพธ์ทั้งหมด 30 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้โดยเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เองได้ และอายุความการเรียกทรัพย์คืนจากผู้ถือหุ้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ก็เพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)จึงถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีได้ หาเป็นเหตุที่จะต้องยกฟ้องโจทก์และขัดข้องที่จะพิพากษาให้จำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มิได้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีไม่ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้นั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้วจึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 หาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่ การฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ถือหุ้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 กฎหมายก็มิได้กำหนด อายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2392/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเรียกทรัพย์คืนในคดีฉ้อโกง ต้องมีการสูญเสียทรัพย์สินจริงก่อน
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกง ป.วิ.อ.มาตรา 43 ให้อำนาจโจทก์ขอเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนต่อเมื่อผู้เสียหายได้สูญเสียทรัพย์สินหรือราคาเพราะเหตุเกิดจากการฉ้อโกงนั้นแล้วเท่านั้น ส่วนการที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงหลอกลวงให้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้สูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนเงินตามที่โจทก์ขอเรียกคืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเรียกให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนโฉนดที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานที่ดินประมาทเลินเล่อและร่วมกระทำละเมิด โจทก์มีสิทธิเรียกทรัพย์คืน
โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 6โดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องสัญญาให้ที่ดินโจทก์จึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้โฉนดที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้รับมาจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7จะเป็นโฉนดที่ดินปลอมแต่เมื่อโฉนดที่ดินฉบับหลวงระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นของโจทก์ตามกฎหมาย การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทปลอมเป็นโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ 1ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ดังนั้นแม้จำเลยที่ 4และที่ 5 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งได้ชื่อในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 4และที่ 5 แล้วก็ตามจำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็มิได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 นั้นไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382แต่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ให้การสู้คดีไว้ในศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยที่ 7ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1โดยประมาทเลินเล่อและได้กระทำไปเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 7จึงต้องรับผิดต่อโจทก์แม้ว่ามูลละเมิดจะขาดอายุความแล้วโจทก์ก็มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 7 ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้ถูกต้องเพื่อแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกทรัพย์คืนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5363/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนที่ดินแทนกัน ตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนได้ แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
จำเลยรับโอนที่ดินไว้แทนโจทก์ครึ่งหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง จึงเป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการ แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนกันไว้ก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องเรียกทรัพย์คืน vs. ค่าเสียหายจากละเมิด และการรับฟังพยานเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
ใบสำคัญรับเงินค่ากระบือ มิใช่สัญญาซื้อขายหรือจะซื้อขายไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 จะใช้บังคับเฉพาะกรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดแต่กรมโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งปศุสัตว์จังหวัดซึ่งเบิกยืมเงินทดรองไปจากโจทก์ เพื่อจัดซื้อกระบือตามโครงการที่โจทก์รับผิดชอบและเมื่อจ่ายค่ากระบือที่ซื้อแล้วมีเงินเหลือให้คืนเงินส่วนที่เหลือแก่โจทก์ อันเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยแก่โจทก์ เป็นเรื่องที่เจ้าของทรัพย์ฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความกรณีมิใช่เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จึงนำอายุความตามมาตรา 448 มาใช้บังคับไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากผู้ยืมเงิน กรณีไม่ใช่การเรียกค่าเสียหาย
ใบสำคัญรับเงินค่ากระบือมิใช่ สัญญาซื้อขายหรือจะซื้อขายใบสำคัญรับเงินดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 อายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ใช้บังคับเฉพาะกรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 พนักงานของโจทก์ในตำแหน่งปศุสัตว์จังหวัดซึ่งเบิกเงินทดรองไปจากโจทก์เพื่อจัดซื้อกระบือตามโครงการพระราชดำริ และเมื่อจ่ายค่ากระบือที่ซื้อแล้วมีเงินเหลือให้คืนเงินส่วนที่เหลือแก่โจทก์ อันเป็นการขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของทรัพย์ฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญายืมสิ่งของ, การผิดนัดชำระหนี้, และการฟ้องเรียกทรัพย์คืน พร้อมดอกเบี้ย
แม้ในใบยืมของระบุว่า หากจำเลยไม่ชดใช้สิ่งของที่ยืมไปก็ขอ ชดใช้เป็นเงินสด หากบิดพลิ้วยอมให้บริษัทดำเนินคดี ยอมชดใช้ ดอกเบี้ยให้บริษัท ว. โดยไม่ได้ระบุให้ชดใช้แก่โจทก์ก็ตามการที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มิใช่ตัวแทนของบริษัท ว. แต่โจทก์ได้โควต้าขายใบยาสูบให้บริษัท ว. โดยโจทก์ต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงยาบำรุงต่าง ๆ ทั้งยังมีผู้จัดการบริษัท ว. มาเบิกความรับรองและข้างบนใบยืมของระบุว่าจำเลยยืมสิ่งของจากโจทก์และจำเลยลงชื่อ ผู้ยืมไว้กับโจทก์มีใบส่งสินค้าระบุชื่อร้านโจทก์ซึ่งระบุข้อความ ว่าจำเลยยืมของโจทก์ โจทก์นำใบยืมของบริษัท ว. มาใช้เพราะเพิ่งทำกิจการยาสูบเป็นครั้งแรก ดังนี้ โจทก์เบิกความและอธิบาย ผสมเหตุผลมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์มิใช่ตัวแทนบริษัท ว. จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นไม่รับฟังพยานเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4เพราะจำเลยไม่ถามค้านขณะโจทก์เบิกความและไม่ส่งสำเนาให้ โจทก์ก่อนสืบพยาน 3 วัน เป็นการคลาดเคลื่อน ความจริงจำเลยได้ ถามค้าน พยานโจทก์ไว้เกี่ยวกับเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จึงรับฟัง เป็นพยานหลักฐานได้ แต่จำเลยอุทธรณ์เรื่องเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่าการที่จำเลยอ้างในคำให้การว่าจำเลย เป็นนายหน้าบริษัท ว.โจทก์เป็นตัวแทนของเขตจังหวัดพิจิตร เมื่อจำเลยรับของโจทก์ให้จำเลยเซ็นชื่อในใบยืมเพื่ออำพรางการเป็น นายหน้าไม่ประสงค์จะผูกพันนั้น ขัดต่อเหตุผลจะรับฟังเอกสาร หมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยานได้หรือไม่ก็ตามไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง ข้อวินิจฉัยข้างต้นว่าไม่จำต้องวินิจฉัย ดังนี้จำเลยมิได้ฎีกา คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในเรื่องนี้ไว้ศาลฎีกาจึง ไม่วินิจฉัยให้ การที่จำเลยยืมปุ๋ย ยาบำรุงใบยาสูบ และยาฆ่าแมลงจากโจทก์เพื่อทำใบยาสูบ ไม่ว่าจำเลยจะทำเองหรือไม่ เมื่อในใบยืมของไม่ได้กำหนดเวลาคืนสิ่งของไว้แต่ตามพฤติการณ์การให้ยืมสิ่งของดังกล่าวเพื่อใช้ในฤดูทำใบยาสูบ เมื่อสิ้นฤดูแล้วต้องส่งคืนหากใช้ไม่หมดส่วนที่ใช้แล้วไม่อาจส่งคืนได้ก็ต้องใช้ราคา เชื่อว่าจำเลยตกลง กับโจทก์ไว้ว่าต้องส่งคืนสิ่งของเมื่อสิ้นฤดูกาลทำใบยาสูบ ซึ่ง อนุมานได้ว่า ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2526 เป็นกรณีที่ไม่ได้กำหนด เวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน การที่จำเลยไม่ส่งคืนของภายใน สิ้นเดือนเมษายน 2526จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ต่อมาเมื่อโจทก์ มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของที่ยืมภายในวันที่ 11 เมษายน 2529 จำเลยไม่คืน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2529 สัญญายืมสิ่งของไม่ต้องปิดอากรแสตมป์เพราะมิได้กำหนดไว้ ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรจึงรับฟัง เป็นพยานหลักฐานได้โดยไม่ต้องปิดแสตมป์ ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้ในคำฟ้องจะบรรยายว่า จำเลยคืนสิ่งของแก่โจทก์บางส่วนรวมเป็นเงิน 5,790 บาท ต่อมานำเงินมาชำระค่าสิ่งของแก่โจทก์ ยังเหลือสิ่งของรวมเป็นเงิน 48,480 บาท แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ให้จำเลยคืนสิ่งของรวม 81,870 บาท นั้น ในหนังสือบอกกล่าวท้ายฟ้อง แสดงรายละเอียดของทรัพย์ที่จำเลยยืมโจทก์ไป 6 รายการ เป็นเงิน 48,480บาท ตรงตามฟ้อง ไม่รวมรายการที่ 7 ค่ากรรมกรขนของ คำฟ้อง กับคำบอกกล่าวจึงไม่ขัดกัน และจำเลยก็เข้าใจข้อหาต่อสู้คดี ได้ถูกต้องคำฟ้องโจทก์ แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และ คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ฟ้องโจทก์ ไม่เคลือบคลุม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2533
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทนที่ยักยอกทรัพย์ ไม่ขาดอายุความตามกฎหมายละเมิด เพราะเป็นสิทธิเรียกร้องในการติดตามทรัพย์
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับเงินค่าเช่าซื้อรถจากลูกหนี้ของโจทก์ จำเลยที่ 1 รับเงินตาม หน้าที่แล้วไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นทั้งละเมิดและปฏิบัติผิดหน้าที่ตัวแทนตาม สัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในการละเมิดหรือติดตาม เอาทรัพย์ของโจทก์ที่จำเลยเอาไปได้ การฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงิน จึงเป็นการใช้ สิทธิติดตาม เอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ซึ่ง ไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้ สิทธิเช่นนี้เว้นแต่จะถูก จำกัดด้วย อายุความได้ สิทธิ ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ แม้จะเกิน 1 ปี จำเลยที่ 2ค้ำประกันจำเลยที่ 1 มูลหนี้ของจำเลยที่ 2 ก็เกิดจากสัญญา หาได้เกิดจากมูลละเมิดอันจะมีอายุความ 1 ปีไม่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
โรงรับจำนำรับจำนำเกิน 10,000 บาท ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของทรัพย์มีสิทธิเรียกทรัพย์คืนพร้อมเงินค่าไถ่
คนร้ายชิงทรัพย์ของโจทก์แล้วเอาไปจำนำที่โรงรับจำนำจำเลยเป็นเงินชิ้นละเกินกว่า 10,000 บาท จำเลยย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 4 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ และแม้โจทก์เสียค่าไถ่ไปแล้วโดยสำคัญผิด โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยได้ เพราะการที่จำเลยรับเงินจากโจทก์เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนทรัพย์ให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2528
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องเรียกทรัพย์คืนขัดแย้งกับข้ออ้างประพฤติเนรคุณ ศาลไม่บังคับตามฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์และ เอาทรัพย์ที่โจทก์มอบให้จำเลยครอบครองทำกินเพื่อเลี้ยงดู โจทก์ไปทำหลักฐานเป็นชื่อของจำเลยขอให้จำเลยคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้โจทก์ฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นการ ฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์แต่โจทก์กลับไปอ้างว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องและตามทางนำสืบของโจทก์มิได้ปรากฏว่าโจทก์ได้ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยจะบังคับ ตามคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยคืนทรัพย์ให้โจทก์ฐานประพฤติเนรคุณ มิได้เพราะสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลัก แห่งข้อหาขัดกันคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการ ฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด