พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีเรียกเก็บค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทร้าง จำเป็นต้องดำเนินการให้มีการจดชื่อบริษัทกลับเข้าสู่ทะเบียนก่อน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเร่งรัดหนี้สิน: ผู้รับจ้างไม่ต้องชดใช้หนี้ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้
ตามสัญญารับดำเนินการข้อ 2.1 และ 2.2 มีใจความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 จะเร่งรัดดำเนินการเก็บเงินที่ลูกหนี้ของโจทก์ค้างชำระโดยใช้ใบเสร็จรับเงินของโจทก์เป็นหลักฐานในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ หากจำเลยที่ 1 ยึดหน่วงเงินไว้ไม่ส่งมอบภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริต นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 2.3 ยังระบุว่า หากจำเลยที่ 1 สามารถติดตามเร่งรัดหนี้สินและส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 2,841,051 บาท โจทก์จะโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ของโจทก์ 1,529,796 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนไม่มีข้อความในสัญญาตอนใดกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในกรณีไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ได้ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่ามุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้สินให้แก่โจทก์เพียงอย่างเดียวรวมทั้งมีหน้าที่ส่งมอบเงินที่เรียกเก็บให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มอบเงินที่เก็บได้ให้แก่โจทก์แล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้อีก 1,099,529.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย