คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เศษของปี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณระยะเวลาทำงานเพื่อรับเงินบำเหน็จ เศษของปีเกิน 6 เดือนนับเป็น 1 ปี
ขณะลาออกโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานรวม 4 ปี 9 เดือน 9 วัน จำเลยมีข้อบังคับว่า พนักงานที่ลาออกหากมีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ 5 ปีแล้วให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จและวิธีคำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานตามข้อบังคับกำหนดว่าเศษของปีถ้าถึงหกเดือนให้นับเป็น 1 ปี ดังนี้ ถือว่าโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ 5 ปี และมีสิทธิได้รับบำเหน็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ: เวลาราชการทวีคูณและเศษของปี
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯ มาตรา 14 วรรคสอง มิได้ใช้ถ้อยคำแต่เพียงว่า "เวลาราชการ" แต่ใช้คำว่า "เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ" ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า เพราะ "เวลาราชการ" นั้น หมายถึงเวลาราชการจริง ๆ ส่วน "เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ" หมายถึงเวลาราชการจริง ๆ รวมทั้งเวลาราชการที่ไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ ด้วย เช่น มาตรา 24 วรรคสอง ให้นับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่ได้มีประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นทวีคูณเป็นต้นซึ่งไม่ใช่เวลาราชการจริง ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ ด้วยเหตุนี้ มาตรา 14 วรรคสอง จึงไม่ใช้ถ้อยคำว่า"ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว" แต่ใช้ว่า "ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว" เพื่อให้มีความหมายกว้างและเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการผู้ลาออกจากราชการนั่นเอง ดังนั้น เมื่อโจทก์มีเวลาราชการจริง ๆ 17 ปี 10 เดือน 30 วัน และมีเวลาราชการทวีคูณในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก อีก 6 ปี 9 เดือน 27 วัน หักวันลากิจลาป่วยระหว่างเวลาราชการทวีคูณแล้ว รวมเป็นเวลาราชการทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน18 วัน อันเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตามนัยดังกล่าวแต่โดยที่ มาตรา 4 ประกอบด้วยมาตรา 29 วรรคแรก บัญญัติให้นับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญแต่จำนวนปีเศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี ซึ่งโจทก์มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญที่เป็นเศษของปีถึงครึ่งปี คือ 7 เดือน 18 วัน จึงต้องนับเป็นหนึ่งปี เมื่อรวมกับ 24 ปีแรก จึงเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำนาญ
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญซึ่งขณะยื่นฟ้อง ไม่อาจกำหนดจำนวนเงินได้แน่นอนโดยโจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์