พบผลลัพธ์ทั้งหมด 278 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8404/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประมาทขับรถทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บ ศาลแก้ไขโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาทน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะ เป็นเหตุให้ อ. ผู้ขับ และ ช. ผู้โดยสารมาในรถยนต์กระบะคันดังกล่าวถึงแก่ความตาย ส่วน ส. ผู้ที่โดยสารมาอีกคนหนึ่งได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291, 300 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ ส. ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 แต่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมาด้วยเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้พิพากษาแก้ไขในข้อนี้ เพียงแต่วงเล็บบทมาตราดังกล่าวไว้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อกล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 อีกบทหนึ่งอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7909/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประมาทขับรถจนผู้อื่นถึงแก่ความตาย และการไม่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ศาลฎีกาแก้ไขโทษและวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับความเร็ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดหรือลดความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่นหรือสิ่งอื่นใดที่กีดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน โดยมิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 67, 152 ตามคำขอท้ายฟ้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4904/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกักขัง ทำร้ายร่างกาย และความรับผิดทางอาญาต่อการเสียชีวิตของผู้ถูกกระทำ
ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขังและถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยไม่มีหนทางหลบเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้เห็นได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นเพราะผู้ตายมีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้เท่ากับผู้เสียหายอื่นจึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้นเพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณโหดร้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4790/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจ่ายเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจากการทำงาน แม้ไม่อยู่ในรายการโรคที่กำหนดไว้ แต่เกิดจากความเหนื่อยล้าจากการทำงาน
ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 แม้โรคต่าง ๆ ที่กำหนดไว้รายการแรก ๆ จะมีลักษณะของโรคที่เกิดจากสารเคมีเป็นพิษเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานก็ตาม แต่โรคในรายการที่ 23 ที่ว่า โรคจากความร้อน รายการที่ 24 โรคจากความเย็น รายการที่ 25 โรคจากความสั่นสะเทือน และรายการที่ 26 โรคจากความกดดันอากาศ แสดงให้เห็นว่าโรคที่ประกาศกำหนดมิได้มุ่งถึงสารเคมีที่มีพิษเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงโรคหรือการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานด้วย โดยเฉพาะในรายการที่ 32 อันเป็นโรครายการสุดท้ายที่ว่า โรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโรคหรือความเจ็บป่วยในรายการนี้ไม่ได้มุ่งเน้นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วยเลย แต่มุ่งเน้นว่าโรคหรือความเจ็บป่วยนั้นต้องเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานเท่านั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยปฏิบัติงานให้จำเลยจนเกิดความเหนื่อยล้าและถึงแก่ความตายเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยความเหนื่อยล้าดังกล่าว จึงเป็นโรคอื่นซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานตามรายการที่ 32 อันเป็นการเจ็บป่วยตามคำจำกัดความคำว่า "เจ็บป่วย" ตามระเบียบของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 3 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นภรรยาและบุตรผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่เสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี: บทบาทศาลและคุณสมบัติผู้ร้อง
จำเลยถึงแก่กรรมขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้าเป็นคู่ความแทนที่ เมื่อ บ. ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยจริงหรือไม่ แล้วส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพื่อพิจารณาสั่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่เนื่องจากคดีนี้ได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรสั่งคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3446/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความประมาทในการขับขี่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ถือเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของผู้ขับขี่
จำเลยขับรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีไฟหน้ารถในเวลาพลบค่ำมีแสงส่องไม่เพียงพอด้วยความเร็วสูงโดยประมาทไม่ลดความเร็ว เมื่อเข้าใกล้ทางโค้งเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนถูกถังน้ำที่ผู้ตายถืออยู่จนเป็นเหตุให้ผู้ตายล้มไปถูกรถยนต์อื่นชนและทับจนถึงแก่ความตาย กรณีเช่นนี้ถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลย จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการมรดกเมื่อมีผู้รับมรดกหลายทายาทเสียชีวิตก่อนได้รับส่วนแบ่ง และสิทธิของผู้จัดการมรดก
ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมภายหลังโดยยังไม่ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่ ล. จะได้รับก็ตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อน ล. แล้ว ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและ ฉ. ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8889/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิต: การจ่ายค่าจ้างวันหยุดตามประเพณีและหน้าที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม แม้ผู้รับจ้างลาป่วย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 29 บัญญัติให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาตินั้น ก็เพื่อให้ลูกจ้างประกอบกิจกรรมสำคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม ซี่งวันหยุดดังกล่าวล้วนแต่ให้หยุดในระหว่างการทำงานทั้งสิ้น เมื่อ ฉ. ลาป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ตลอดมาจนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยไม่มีการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงไม่มีวันหยุดตามประเพณีดังกล่าว นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีให้แก่ ฉ. และไม่ได้หักค่าจ้างของ ฉ. ส่งสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 เมื่อ ฉ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยไม่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตาย พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 73 โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของ ฉ. จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7824-7825/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการมรดกโดยผู้จัดการหลายคน และผลของการเสียชีวิตของผู้จัดการมรดก
การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้น การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 และหากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อ ศ. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ตั้ง ศ. เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของ ศ. ไม่อาจรับมรดกความกันได้ ไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาตามที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับ ศ. อีกต่อไป จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญาของผู้สืบสันดานเมื่อผู้เสียหายเสียชีวิต โดยไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตาย
ว. บิดาโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. ตายโดยไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตายตามมาตรา 5 (2) โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานจึงไม่มีอำนาจจัดการแทน ว. ฟ้องจำเลยได้ ปรากฏว่า ว. เพียงแต่ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น ยังไม่ได้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ที่โจทก์จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และเมื่อ ว. ตายสิทธิที่ ว. ได้ร้องทุกข์ไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 เพราะการฟ้องคดีต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เสียแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง