คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เหตุข่มเหง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยบันดาลโทสะกับการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นคนละกรณีกัน ฎีกาชี้ว่าการป้องกันต้องเกิดขณะที่ภัยใกล้ถึง แต่การกระทำด้วยโทสะอาจเกิดขึ้นหลังภัยผ่านพ้นไปได้
การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเดียวกันได้ เนื่องจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ผู้กระทำจะใช้สิทธิป้องกันได้จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และขณะใช้สิทธิป้องกันภยันตรายนั้นยังมิได้สิ้นสุดลงหากภยันตรายนั้นผ่านพ้นไปแล้วผู้กระทำก็ไม่อาจใช้สิทธิป้องกันได้ อย่างไรก็ดี ภยันตรายดังกล่าวแม้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง หากผู้ถูกข่มเหงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ การที่ผู้ตายเข้าไปหาจำเลยแล้วเตะสำรับกับข้าวที่จำเลยกับภรรยานั่งรับประทานอยู่ แม้จะเป็นการกระทำที่ผู้ตายมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นอันถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยก็หาได้กระทำสิ่งใดเป็นการตอบโต้ ผู้ตายในขณะผู้ตายเตะสำรับกับข้าวของจำเลยไม่ ต่อเมื่อผู้ตายร้องเรียกจำเลยให้เข้ามาต่อสู้กันพร้อมทั้งด่าจำเลยจำเลยเกิดโทสะจึงเข้าต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อสู้ไม่ได้เพราะตัวเล็กกว่า จำเลยจึงวิ่งไปหยิบมีดมาแทงผู้ตายการกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำเมื่อภยันตรายดังกล่าวที่ผู้ตายก่อได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การกระทำของผู้ตายก็ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายไปในขณะนั้นคือในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยยังมีโทสะอยู่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ หาใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยในขณะเดียวกันไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2499

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำของผู้ตายเป็นเหตุยั่วยุให้จำเลยป้องกันตัวได้ แม้ไม่มีประเด็นยกขึ้นสู่ศาล ศาลมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แก่จำเลย
การที่ผู้ตายถือมีดพร้าขึ้นไปบนเรือน แสดงกริยาจะทำร้ายเขาโดยไม่มีเหตุสมควรเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการข่มเหงเขาอย่างร้ายแรงโดยไม่เป็นธรรมตาม มาตรา 55
ในคดีอาญาเมื่อข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายปรากฏในท้องสำนวนแล้ว ถึงแม้จะไม่มีประเด็นในข้อเหล่านี้ขึ้นมาศาลก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยในทางที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้เพราะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยบันดาลโทสะต้องต่อเนื่องกับเหตุข่มเหง หากขาดตอนหรือไม่ต่อเนื่อง จะไม่ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ
การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่
เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น