พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และการพิสูจน์เหตุแห่งการเลิกจ้าง
โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ เดือนละหลายครั้ง จนจำเลยต้องมีหนังสือตักเตือนโจทก์ และต้องเปลี่ยนเวลาทำงานของโจทก์จากเวลาทำงานเดิม 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เป็น 9.00 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา ต่อมาโจทก์ขอเปลี่ยนเวลาทำงานกลับไปเป็นเวลาเดิม เห็นได้ว่าจำเลยได้พยายามแก้ไขการมาทำงานสายของโจทก์ตลอดมา แต่โจทก์ไม่ปรับปรุงตัว วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสายถึง 37 นาที และเมื่อปลายปี 2545 ว. ได้ออกแบบงานชิ้นหนึ่งแล้วนำไปให้โจทก์ดำเนินการเขียนแบบตั้งแต่ตอนเช้าโดยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต้องนำไปให้ลูกค้าในวันรุ่งขึ้นเวลา 10.00 นาฬิกา โจทก์ไม่เขียนแบบเองแต่นำไปมอบให้พนักงานเขียนแบบคนอื่นดำเนินการแทน วันรุ่งขึ้นโจทก์ไปทำงานสายและปรากฏว่าผู้ที่โจทก์มอบให้เขียนแบบแทนเขียนแบบไม่เสร็จ ทำให้ ว. ต้องเสนอผลงานที่ยังไม่เสร็จต่อลูกค้า การที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ และการทำงานของโจทก์มีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานกับฝ่ายออกแบบ เป็นเหตุให้งานของจำเลยไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด และในวันที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ยังมาทำงานสาย ย่อมมีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2533
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: จำเลยต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างในคำให้การชัดเจน หากศาลฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยกล่าวอ้าง ถือเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ในคดีแรงงาน กรณีที่จำเลยยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จำเลยต้อง กล่าวข้อเท็จจริงเป็นข้อต่อสู้ให้ชัดแจ้งในคำให้การ คำให้การของจำเลยที่ให้การถึง เหตุแห่งการเลิกจ้างว่า "การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ได้ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานและจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วย กฎหมายของนายจ้างมาโดยตลอด ..." นั้นมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วย กฎหมายในเรื่องใด และเมื่อใด ดังนั้นการที่ ศาลแรงงานกลาง ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ออกปฏิบัติงานตาม หมายกำหนดเดินทางออกต่างจังหวัดตาม ที่จำเลยที่ 1 กำหนดและโจทก์ทำยอดขายไม่ได้ตาม ที่ตกลง ไว้กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่มิได้มีปรากฏในคำให้การเมื่อ ศาลแรงงานกลาง นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างแล้ววินิจฉัยว่าไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเมื่อเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ ศาลแรงงานกลาง ยกขึ้นวินิจฉัยไม่อาจนำมาอ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุจะอ้างได้ตาม กฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เป็นข้อเท็จจริงเมื่อ ศาลแรงงานกลาง ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกา ต้อง ย้อนสำนวนไปให้ ศาลแรงงานกลาง วินิจฉัยก่อน จำเลยจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงระหว่างเดินทางไปขายสินค้าตามจังหวัดต่าง ๆ แก่โจทก์โดย สม่ำเสมอพร้อมกับเงินเดือน จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2485/2531
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำคดีเลิกจ้าง: การเปลี่ยนเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่ทำให้คดีใหม่แตกต่างจากคดีเดิม
ฟ้องโจทก์คดีนี้ และคดีก่อนมีมูลมาจากการเลิกจ้างตามคำสั่งเลิกจ้างฉบับเดียวกัน เป็นแต่เพียงโจทก์กล่าวอ้างในฟ้องคดีก่อนว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการเลิกจ้างที่ถูกปรักปรำและถูกบีบคั้นของจำเลย ซึ่งไม่ว่าโจทก์จะกล่าวอ้างถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างอย่างในคดีก่อนหรือคดีนี้ก็ตาม คดีทั้งสองก็มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างได้หรือไม่เมื่อคดีก่อนคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ.