คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไขอุทธรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2787/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์และการแก้ไขอุทธรณ์ต้องยื่นภายในกำหนดเวลา การรับคำรับสารภาพ และรายงานการสืบเสาะพฤติการณ์
การยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 ได้กำหนดให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง อันเป็นการกำหนดระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไว้ซึ่งต่างกับการยื่นคำฟ้องในศาลชั้นต้นที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นฟ้องไว้ ดังนั้นหากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3จะขอแก้หรือเพิ่มเติมอุทธรณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ก็จะต้องยื่นภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ด้วยเช่นกัน จะนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้และเพิ่มเติมอุทธรณ์ล่วงเลยกำหนดอายุอุทธรณ์แล้ว จึงรับไว้พิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์เดิมไม่ได้ คำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3มิใช่คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเพียงคำแถลงอย่างหนึ่งซึ่งทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้อ่านข้อความในคำแถลงประกอบคำรับสารภาพดังกล่าว และศาลชั้นต้นไม่ได้สอบจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ก็ตาม คำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 นั้น ก็ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นเป็นผู้สั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปทำการสืบเสาะประวัติความประพฤติ และพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วให้พนักงานคุมประพฤติทำรายงานเสนอต่อศาล เพื่อศาลจะได้ใช้รายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าวประกอบดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เมื่อศาลชั้นต้นได้แจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่คัดค้าน และยืนยันให้การ รับสารภาพเช่นเดิมเช่นนี้ กระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้น กระทำต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2631/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับหรือคืนอุทธรณ์: โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งให้แก้ไขอุทธรณ์ได้ทันที
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้าย ให้สิทธิคู่ความที่จะอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือคืนคำคู่ความ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247 นั้นได้
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์รับอุทธรณ์คืนไปทำมาใหม่ภายใน กำหนด 7 วัน แต่โจทก์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้ออันควรตำหนิ ที่จะต้องแก้ไข หรือทำมาใหม่ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น โจทก์ ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ตามนัยแห่ง บทบัญญัติดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่งก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่รับอุทธรณ์เนื่องจากทนายความไม่ได้รับอนุญาต และผลของการไม่แก้ไขอุทธรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยโดยเหตุที่ว่าผู้ลงชื่อในอุทธรณ์ศาลมิได้อนุญาตให้เป็นทนายความของจำเลยนั้น เป็นการสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 เมื่อจำเลยมิได้ทำอุทธรณ์ให้ถูกต้องและมายื่นใหม่ภายในอายุอุทธรณ์แต่กลับร้องขอแก้ไขความบกพร่องในอุทธรณ์ที่ศาลไม่รับเสียแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตจำเลยจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 234 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นแล้ว ดังนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 236 แม้ฎีกาของจำเลยจะมีข้อความคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขความบกพร่องก็ดี แต่ผลที่สุดก็ขอให้สั่งอนุญาตให้จำเลยลงชื่อในอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นไม่รับแล้วเท่ากับฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นนั้นเองจำเลยจะฎีกาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2503 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขฟ้องอุทธรณ์ที่ผิดพลาด: ศาลมีอำนาจกำหนดเวลาให้แก้ไขได้ ไม่ถือเป็นการยืดเวลา
ปัญหาว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ผิดพลาดมายื่นใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาซึ่งแล้ว แต่ศาลชั้นต้นจะเห็นสมควร นั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นตำหนิฟ้องอุทธรณ์ขอจำเลยเพราะพิมพ์ตัวเลข ตอนย่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นไขว้เขวไป หาใช่ตัวบรรยายอุทธรณ์แท้ไม่ ศาลชั้นต้นสั่งให้ทำมาใหม่ซึ่งต้องเข้าใจว่า ศาลสั่งโดยอาศัยอำนาจ ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 15 ป.วิ.อ. ซึ่งศาลชอบที่จะกำหนดระยะเวลา ถ้าศาลไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ก็พึงเข้าใจว่า ภายในระยะเวลาอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์หรือยื่นฟ้องอุทธรณ์ใหม่ให้ถูกต้องตามที่ศาลชั้นต้นตำหนิ หาใช่เป็นยืดเวลา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ไม่ หากแต่เป็นเรื่องจะให้ยื่นอุทธรณ์ใหม่ตามที่สั่งไว้เดิมแล้ว หรือไม่เท่านั้น (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2503)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2503

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขอุทธรณ์ที่ผิดพลาด: ศาลชอบที่จะกำหนดเวลาให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ใหม่ได้ ไม่เป็นการยืดเวลา
ปัญหาว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ผิดพลาดมายื่นใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาซึ่งแล้วแต่ศาลชั้นต้นจะเห็นสมควร นั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นตำหนิฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยเพราะพิมพ์ตัวเลขตอนย่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นไขว้เขวไป หาใช่ตัวบรรยายอุทธรณ์แท้ไม่ ศาลชั้นต้นสั่งให้ทำมาใหม่ซึ่งต้องเข้าใจว่า ศาลสั่งโดยอาศัยอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 15ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลชอบที่จะกำหนดระยะเวลาถ้าศาลไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ก็พึงเข้าใจว่า ภายในระยะเวลาอันสมควรการที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์หรือยื่นฟ้องอุทธรณ์ใหม่ให้ถูกต้องตามที่ศาลชั้นต้นตำหนิ หาใช่เป็นการยืดเวลาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่หากแต่เป็นเรื่องจะให้ยื่นอุทธรณ์ใหม่ตามที่สั่งไว้เดิมแล้วหรือไม่เท่านั้น (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2503)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล & การแก้ไขอุทธรณ์: จำเลยยอมรับอำนาจศาลเมื่อไม่โต้แย้งในชั้นพิจารณา & แก้ไขอุทธรณ์นอกกรอบเวลา
แม้จำเลยให้การว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศและนิติกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาต้องเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 แต่หลังจากจำเลยยื่นคำให้การ ดังกล่าว ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยายังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและในวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย ชี้สองสถานหรือสืบพยาน จำเลยก็มิได้โต้แย้ง กลับแถลงว่ามีพยานพร้อมจะสืบจำนวน 3 ปาก ตามวันที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยากำหนดนัดซึ่งเป็นวันว่างของคู่ความ และเมื่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยมิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งอีกเช่นกัน จึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาจนล่วงเลยเวลาที่จะเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่แล้ว
คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพิ่มเข้ามาจำนวนมากมิใช่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจึงต้องตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 และมาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 ซึ่งจำเลยจะต้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เสียภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ การที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เช่นนี้ เป็นการยื่นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว