คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไขโดยศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, อัตราดอกเบี้ยสูงสุด, การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ตกลง, และการแก้ไขโดยศาลตามอำนาจ
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้เฉพาะจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าธรรมเนียมการชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 4,964,434.49 บาท กับค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 1,600 บาท แก่โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงมิได้เป็นจำเลยตามอุทธรณ์ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เพื่อแก้อุทธรณ์ด้วยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ
การคิดคำนวณหนี้เป็นเงินไทยโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินสำหรับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีททุกจำนวนนั้น โจทก์ได้ใช้สิทธิเลือกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไป และการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ต้องปฏิบัติตามสัญญาทรัสต์รีซีท ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ แต่ปรากฏว่า โจทก์ชำระดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 แทนจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 และตั๋วแลกเงินที่โจทก์ออกสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ก็มีวันครบกำหนดจ่ายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น โจทก์จึงต้องคำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 จำนวน 106,013.45 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันของโจทก์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.70 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 3,360,626.37 บาท การที่โจทก์คำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 26 มกราคม 2541 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 55 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 5,830,739.75 บาท นั้นเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ชอบ
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทให้แก่โจทก์ ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และสัญญานี้ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นการระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ก็ตาม แต่ก็ระบุเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ย่อมต้องหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขซึ่งมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยไม่ตรงตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ประกอบด้วยข้อ 4 จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินไปโดยไม่ถูกต้องตามสัญญาทรัสต์รีซีทและขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศธนาคารโจทก์ กับ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ปัญหาการคิดอัตราแลกเปลี่ยนและการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ที่ทำให้จำนวนหนี้สูงเกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยมิชอบดังกล่าว เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)