คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แจ้งข้อความเท็จ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารราชการปลอมและแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ไม่ขัดต่อข้อห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193 ทวิ
การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 267,268นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 267และมาตรา 268 ซึ่งเกิดจากการกระทำผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารราชการปลอม แต่เนื่องจากมาตรา 268 มิได้ระวางอัตราโทษไว้โดยเฉพาะว่าจะให้ลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างไร คงให้นำอัตราโทษตามที่ระบุไว้ในมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ซึ่งแล้วแต่ว่าเอกสารที่ได้ใช้หรืออ้างนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำผิดของมาตราหนึ่งมาตราใดดังที่กล่าวแล้วมาใช้ ในกรณีเช่นนี้หากจะมีการลงโทษตามมาตรา 268 ก็จะต้องนำเอาอัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 265มาใช้เป็นโทษของมาตรา 268 เพราะโจทก์ได้กล่าวอ้างมาในฟ้องด้วยว่าจำเลยได้ใช้หรืออ้างเอกสารอันเป็นเอกสารราชการที่พวกของจำเลยได้ปลอมขึ้น เมื่อมาตรา 265 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท คดีโจทก์ในข้อหานี้จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193 ทวิ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2221/2515 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาฐานแจ้งข้อความเท็จต่อศาล กรณีหลักประกันคดีแพ่งที่ไม่เป็นจริง
จำเลยแพ้คดีแพ่งในชั้นอุทธรณ์ จึงฎีกาและร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ศาลมีคำสั่งให้หาหลักประกันในราคา 8 ล้านบาท ถ้าศาลพอใจหลักทรัพย์ก็ให้ทุเลาการบังคับ จำเลยเสนอหลักทรัพย์โดยตีราคามาให้พอแก่ราคาหลักประกันที่ศาลต้องการ แต่หลักทรัพย์นั้นมีใบหุ้นของบริษัทร้างซึ่งจำเลยรู้ดีว่าไม่มีมูลค่าแล้ว และมีโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยตีราคามาสูงเกินความจริงไปมากทำให้ศาลหลงเชื่อรับไว้เป็นหลักประกัน และอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ในคดีแพ่งนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดดังกล่าวนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2499

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และแจ้งข้อความเท็จ: การพิจารณาความผิดหลายกระทงและการกำหนดโทษ
เสมียนพนักงานการรถไฟฯ เป็นเจ้าพนักงานตาม พระราชบัญญัติการรถไฟพ.ศ.2494 มาตรา18 และตาม กฎหมายอาญา
ดังนั้นเมื่อเสมียนพนักงานขายตั๋วของการรถไฟฯ ยักยอกเงินที่ขายตั๋วได้และจดแจ้งเท็จลงในบัญชีจำนวนขายตั๋วจึงมีความผิดตาม กฎหมายอาญา มาตรา 131 และ 230 รวม 2 กระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9556/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิ ถือเป็นความผิดอาญา
การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือ สำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกิจการของบริษัท บ. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในเครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้
การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และการรับรองเอกสารโดยเจ้าพนักงานตามระเบียบกรมที่ดิน ศาลยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน แล้วนำมาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย รวมทั้งบทมาตราที่ยกขึ้นปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเป็นอย่างเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งอื่น มิได้เบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสถามค้าน จึงมีน้ำหนักน้อย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม
ศ. และ อ. เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ และข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากเป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องร้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำยังมีข้อความว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ไม่ถึงขั้นใช้เอกสารเท็จ ศาลฎีกาแก้โทษปรับและรอการลงโทษ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยว่าจำเลยมอบอำนาจให้ ม. ยืนคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของบริษัท ด. โดยมีกรรมการเข้าใหม่ 1 คน คือ พ. และกรรมการออกจากตำแหน่ง 2 คน คือ โจทก์ทั้งสองแสดงว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงแต่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียน เพื่อให้จดข้อความอันเป็นเท็จนั้นลงในทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องการนำเอกสารทางทะเบียนอันจดข้อความเท็จดังกล่าวไปใช้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคหนึ่ง มาตรา 267 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาในปัญหาข้อนี้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งบริษัท
กองบังคับการปราบปรามนั้น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 จึงมีอำนาจสอบสวนคดีได้ทั่วราชอาณาจักรตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เพื่อที่จะไม่ให้ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกับอำนาจของพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุโดยตรง โดยให้คดีในลักษณะต่าง ๆ ที่ถือว่ามีความสำคัญหรือยุ่งยากเป็นพิเศษ เพื่อให้อยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เช่น เมื่อได้มีการรับเรื่องร้องทุกข์ไว้ดำเนินการแล้ว พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามก็มีอำนาจทำการสอบสวนไปได้ก่อนในเบื้องต้นพร้อมทั้งทำเรื่องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบและให้มีคำสั่งอนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไปตามระเบียบ ดังนั้น เอกสารที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามรวบรวมไว้ ย่อมเป็นเอกสารที่ได้มาโดยถูกต้องชอบดัวยกฎหมาย แม้ภายหลังผู้บังคับบัญชาจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทำการสอบสวนต่อไป ก็เป็นเพียงเรื่องภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีระเบียบกำหนดให้คดีในลักษณะดังกล่าวต้องมีการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุดำเนินการต่อไปเท่านั้น ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี ก็ได้มีการเรียกโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายให้มาดำเนินการร้องทุกข์ใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยในลักษณะที่คล้ายกับว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีเริ่มดำเนินการสอบสวนใหม่เองทั้งหมด ส่วนเอกสารหลักฐานที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งมาให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีก็รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนในลักษณะเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการสั่งสำนวนเท่านั้น หากเห็นว่า ยังขาดตกบกพร่องอยู่ในส่วนใดก็สามารถใช้ดุลพินิจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ได้ หรือหากเห็นว่าหลักฐานที่รวบรวมไว้โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามและส่งมาให้รวมไว้ในสำนวนการสอบสวนมีความชัดเจนเพียงพอแล้วก็สามารถใช้เอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นกลักฐานในสำนวนการสอบสวนต่อไปเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการสั่งคดีได้ โดยไม่ต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ร่วมกันปลอมเอกสาร รวมทั้งร่วมกันใช้เอกสารปลอม และสำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการปลอมเอกสารหรือลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทหรือที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 นั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพียงเพื่อต้องการให้นายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดชลบุรีจดทะเบียนแก้ไขจำนวนผู้ถือหุ้น แก้ไขจำนวนกรรมการเข้าและออก และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท พ. จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้จดข้อความเท็จ ประเด็นการใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายแก้ไขใหม่
ท. ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เรื่องการถอนฟ้องของ ท. เพื่อให้ได้ความกระจ่างว่า ท. มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้จริงหรือไม่ แต่ ม. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อันเนื่องจากสถานการณ์โลกในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นวงกว้าง ม. จึงส่งบันทึกถ้อยคำตอบข้อซักถามของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่กระทำในต่างประเทศโดยมีโนตารีพับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นรับรองว่า ม. ลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าตนต่อศาลชั้นต้นแทนการให้ถ้อยคำด้วยวาจาซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จึงรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการสอบถามข้อเท็จจริงด้วยวาจาได้ ทั้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. ด้วยวาจาในเรื่องการถอนฟ้องเป็นไปเพื่อความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นการให้สืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) จึงไม่จำต้องสืบพยานปาก ม. ที่ศาลอื่น หรือสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาล โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 230/1 ดังนี้ เมื่อบันทึกถ้อยคำของ ม. ระบุว่า ท. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และตราประทับที่ ท. ได้ประทับในคำร้องขอถอนฟ้องไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ กับ ท. ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในนามของโจทก์ คำร้องขอถอนฟ้องของ ท. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และปรากฏตามหนังสือรับรองข้อเท็จจริงว่า ม. ในฐานะกรรมการผู้แทนแต่เพียงผู้เดียวของโจทก์ขอรับรองว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะถอนฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถอนฟ้องคดีนี้