คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แจ้งศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดพิจารณาคดีและการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จำเลยต้องแจ้งศาลหากต้องการให้พิจารณาต่อไป
กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 หากจำเลยมิได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ การที่จำเลยที่ 1 แถลงคำคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์เป็นคนละกรณีกับการที่จะให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความจึงชอบแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในคำสั่งจำหน่ายคดีว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้นเป็นการไม่ถูกต้องเพราะกรณีมิใช่เป็นเรื่องทิ้งฟ้องแต่เป็นกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการต้องแจ้งให้ศาลทราบก่อนฟ้อง หากเพิกเฉย ศาลไม่จำหน่ายคดี
จำเลยให้การลอย ๆ ว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการและมิได้โต้แย้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ทำการไต่สวนให้ปรากฏว่ามีสัญญาระงับข้อพิพาทอยู่หรือไม่ แต่กลับต่อสู้คดีตามประเด็นที่โจทก์ฟ้องตลอดมาโดยมิได้ส่งหนังสือสัญญาการระงับข้อพิพาทต่อศาลเพื่อขอให้จำหน่ายคดี จำเลยเพิ่งจะส่งสำเนาสัญญาดังกล่าวต่อศาลในชั้นยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์แสดงว่า จำเลยมิได้ประสงค์จะขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10ศาลจึงไม่ต้องสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายนัดโดยชอบตามภูมิลำเนาเดิม แม้มีการย้ายภูมิลำเนาแล้ว แต่ไม่แจ้งให้ศาลทราบ
จำเลยที่ 2 อ้างเหตุในคำขอให้พิจารณาใหม่ว่า จำเลยที่ 2ไม่เคยทราบวันนัดสืบพยานโจทก์ เพราะได้ย้ายไปจากภูมิลำเนาตามฟ้องตั้งแต่ปี 2536 แล้ว ซึ่งหากได้ความตามคำร้องดังกล่าว การส่งหมายนัดสืบพยานประเด็นโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดหมายก็ย่อมไม่ชอบ มีผลทำให้การสืบพยานประเด็นโจทก์และนัดต่อ ๆ มาจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบถือว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทราบวันนัดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษากรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 225 เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการที่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่จะยังให้การไปโดยยุติธรรม แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 207/23-24 ถนนอ่อนนุชและในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม ดังนี้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาเป็นเลขที่ 300/46 ถนนอ่อนนุชก็ตาม แต่ตามเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ใหม่ตั้งแต่เมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 2ไม่นำสืบให้ปรากฏชัด ทั้งไม่เคยแจ้งการย้ายภูมิลำเนาไปที่ใหม่ให้ศาลทราบจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิมตามฟ้อง ฉะนั้น การส่งหมายนัดไปให้จำเลยที่ 2และนัดต่อ ๆ มาจนถึงนัดฟังคำพิพากษาโดยวิธีการใดก็ตามย่อมถือว่าเป็นการส่งให้จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7258/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลายื่นฎีกา: เหตุสุดวิสัยต้องแจ้งศาล/ผู้รับมอบอำนาจ หากไม่แจ้งถือมิได้เป็นเหตุพิเศษ
ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายเวลากำหนดยื่นฎีการวมสองครั้งแล้ว ต่อมาทนายโจทก์อ้างว่าต้องเดินทางไปจัดการปัญหาเรื่องที่ดินที่จังหวัดระนอง เมื่อเสร็จธุรกิจแล้ว เช้ามืดของวันสุดท้ายที่จะต้องยื่นฎีกาทนายโจทก์ขับรถยนต์กลับกรุงเทพมหานคร แต่รถยนต์ออกจากจังหวัดระนองไปได้ประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ ก็เกิดอุบัติเหตุตกคูน้ำข้างถนนต้องนำรถยนต์ไปซ่อมทนายโจทก์นั่งรถยนต์โดยสารเข้ากรุงเทพมหานครทำฎีกาใหม่ไปยื่นต่อศาลหลังจากพ้นกำหนดเวลาที่ขอขยายไว้ ดังนี้ ถึงแม้ว่ารถยนต์ส่วนตัวของทนายโจทก์จะเกิดเสียหายในวันสุดท้ายที่จะต้องยื่นฎีกา แต่ทนายโจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นที่ตนอยู่ในเขตศาลในขณะนั้นตามที่ ป.วิ.พ.มาตรา 10 เปิดโอกาสไว้หรือแจ้งต่อกรรมการโจทก์หรือผู้รับมอบอำนาจโจทก์เพื่อให้ตัวความไปร้องขอต่อศาลชั้นต้นเอง ฉะนั้นเหตุการณ์ตามที่ทนายโจทก์กล่าวอ้างจึงถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 974/2520 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงชื่อโจทก์หลังยื่นฟ้อง ศาลต้องรับบัญชีระบุพยานที่ใช้ชื่อใหม่ได้ หากโจทก์ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อให้ศาลทราบแล้ว
โจทก์ยื่นฟ้องแล้ว ระหว่างพิจารณาได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้ใช้ชื่อของบริษัทโจทก์ใหม่ แต่ไม่ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องเกี่ยวกับชื่อโจทก์ เพียงแต่ยื่นคำแถลงว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว โดยระบุในนามบริษัทโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ใหม่ โจทก์ขอดำเนินคดีในนามใหม่ตลอดไป ส่วนหนังสือที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อใหม่จะนำเสนอศาลในวันนัดพิจารณา ศาลสั่งรวมคำแถลงนี้ไว้ในสำนวน ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขชื่อของ บริษัทโจทก์ ก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้รับรู้แล้วว่าชื่อบริษัทโจทก์ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่แล้วการที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานมาโดยกล่าวเลขคดีเดิม ได้ระบุชื่อบริษัทโจทก์เก่าใหม่มาด้วยจึงถือได้ว่าเป็นบัญชีระบุพยานของโจทก์ในคดีนั้นเอง การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์ไว้จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7065/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของความตายคู่ความต่อคดีแพ่ง: ศาลไม่ต้องเลื่อนพิจารณาหากไม่ทราบการตาย และไม่กระทบกระบวนพิจารณา
แม้ความตายของโจทก์ซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของ ศ. จะมีผลให้การเป็นผู้อนุบาลของ ศ. สิ้นสุดลงนับแต่วันที่โจทก์ถึงแก่ความตายในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ตาม แต่บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 42 มิได้ให้เป็นหน้าที่ของบุคคลใดที่จะต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความมรณะของคู่ความในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล เพียงแต่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาไปถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี แสดงว่าความมรณะของคู่ความจะต้องปรากฏแก่ศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หากความไม่ปรากฏแก่ศาลก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาหรือมีกรณีที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา 42 คดีนั้นก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามบทกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้กระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการภายหลังจากนั้นเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบ หรือมีผลให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบสิ้นผลไป