คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แจ้งเจ้าหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลาย: สิทธิเจ้าหนี้, การโอนสิทธิเรียกร้อง, และการแจ้งเจ้าหนี้เมื่อสิทธิเดิมสิ้นสุด
แม้ระหว่างพิจารณาคดีล้มละลายของศาลชั้นต้นโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองไปยังบริษัท บ. ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้หมดไปในระหว่างพิจารณาแล้วก็ตาม แต่ในขณะยื่นฟ้องโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 9 ซึ่งเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายที่จะนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เหล่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องบังคับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงไม่ และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองไว้ชั่วคราวแล้ว หากศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่สิทธิของโจทก์สิ้นไปในระหว่างพิจารณาก็จะต้องดำเนินการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้เจ้าหนี้ดังกล่าวยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์เดิมได้เช่นเดียวกับเหตุตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 154 แต่เมื่อปรากฏว่าต่อมาในระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นได้มีการยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัท บ. เนื่องจากมีเหตุขัดข้องในการโอน โดยบริษัท บ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวคืนแก่โจทก์แล้ว เช่นนี้โจทก์จึงยังคงมีสถานะเป็นเจ้าหนี้มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการยกเลิกการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายและการแจ้งเจ้าหนี้
คดีล้มละลายเมื่อลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนได้มานั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจนำออกขายทอดตลาดได้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 123 โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลก่อน จึงไม่เหมือนกับการบังคับคดีแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6หมายถึงกระบวนพิจารณาที่กระทำต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยซึ่งถ้าส่วนใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ดังนี้เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ไม่ชอบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการขายเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ประกอบมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เคยส่งหมายนัดแจ้งวันขายทอดตลาดไปยังธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนำแล้ว แต่ธนาคารเจ้าหนี้ย้ายที่อยู่โดยไม่ทราบที่อยู่ใหม่ จึงประกาศแจ้งวันเวลาขายทอดตลาดทรัพย์ทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการแจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนำทราบโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกเลิกการขายทอดตลาดจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2499

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยมิได้แจ้งเจ้าหนี้ การเพิกถอนคำสั่งขายทอดตลาด
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ถูกยึดไปโดยมิได้แจ้งให้โจทก์จำเลยทราบโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์นั้นเสียแล้วให้ประกาศขายใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16134/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินชำระหนี้ต่อศาล: ศาลต้องแจ้งเจ้าหนี้ หากไม่แจ้งเงินไม่ตกเป็นของแผ่นดิน
การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษานั้น เป็นการกระทำเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามารับไป ศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้โจทก์ทราบ หากโจทก์ทราบแล้วไม่มารับเงินภายในห้าปีนับแต่มีการวางเงิน เงินดังกล่าวจึงจะถือว่าเป็นเงินค้างจ่ายและทำให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่คดีนี้หลังจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทราบ เงินดังกล่าวจึงยังไม่เป็นเงินค้างจ่ายอยู่ที่ศาลชั้นต้นที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกเอาเสียภายในห้าปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 และยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17922/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดบังคับคดี: การแจ้งเจ้าหนี้และการประเมินราคาที่เหมาะสม
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 31910 และ 28735 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่มีต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม (สัญญาประนีประนอมยอมความ) ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด อ. ประมูลซื้อได้ในราคา 301,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ เมื่อสำเนาโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีชื่อจำเลยที่ 2 ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อีกทั้งหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ระบุว่า กรรมการคนใดเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้น ณ. กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ ธ. เข้าร่วมขายทอดตลาด และ จ. กรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบังคับคดีผ่านผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยที่ 1 สามารถหาเงินซื้อที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ ย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมาย การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร เป็นฎีกาในประเด็นร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่