คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แบบตามกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด หากไม่เป็นไปตามแบบ สัญญาโอนหุ้นเป็นโมฆะ แม้มีการชำระเงินแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายหุ้นของจำเลยในบริษัทบ. ให้แก่โจทก์ 2,500 หุ้น ในราคา 2,500,000 บาท จำเลยได้รับเงินค่าหุ้นจากโจทก์ในวันทำสัญญา 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากการซื้อขายหุ้นมีปัญหาหรือโมฆะ จำเลยจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ แต่จำเลยไม่สามารถจัดการโอนหุ้นตามสัญญาให้แก่โจทก์โดยทางบริษัท บ. แจ้งว่า การโอนหุ้นขัดต่อข้อบังคับของบริษัทซึ่งกรรมการของบริษัทคัดค้านการโอนหุ้น และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ส่วนข้อบังคับของบริษัท บ. มีว่าอย่างไรการโอนหุ้นตามฟ้องขัดต่อข้อบังคับของบริษัทอย่างไร กรรมการบริษัทที่คัดค้านการโอนหุ้นคือใครตามมติที่ประชุมครั้งที่เท่าใดล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบพยานได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
หุ้นของบริษัท บ. เป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อแม้ยังไม่ได้ออกใบหุ้นแต่การโอนหุ้นก็ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง ซึ่งกำหนดแบบไว้ว่าถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทดังกล่าวระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีผู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายมือดังกล่าว จึงเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นแบบมีเงื่อนไข: เจตนาคู่สัญญา, แบบตามกฎหมาย, สิทธิผู้รับโอน, การซื้อขายหุ้น
หุ้นพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นทั้งหมดที่จำเลยได้ลงชื่อในแบบโอนลอยให้แก่ธ. ไปหากธ. ประสงค์ต้องการมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นก็จะต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้รับโอนแล้วไปแก้ทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นตามระเบียบได้และถ้าธ. ไม่ต้องการมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นธ. สามารถโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้เมื่อปรากฏต่อมาอีกว่าธ. ได้แบ่งโอนหุ้นบางส่วนให้แก่บุตรสาวคนหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการเปลี่ยนและโอนใบหุ้นเป็นชื่อของตนแล้วจึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่าการโอนหุ้นระหว่างจำเลยและธ. แบบโอนลอยนั้นคู่กรณีมีเจตนามุ่งให้ความสะดวกเป็นประโยชน์แก่ผู้รับโอนที่จะเลือกปฏิบัติได้ว่าหากประสงค์จะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเป็นการโอนที่เสร็จเด็ดขาดก็จะต้องปฏิบัติตามแบบแห่งกฎหมายให้ถูกต้องต่อไปแต่หากยังไม่ประสงค์จะให้มีผลเสร็จเด็ดขาดก็อาจโอนลอยต่อให้บุคคลอื่นไปปฏิบัติต่อไปได้กล่าวโดยชัดแจ้งคือเป็นการแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติตามแบบแห่งนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดโดยฝ่ายจำเลยผู้โอนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนฝ่ายตนแล้วมอบให้ฝ่ายผู้รับโอนไปเลือกปฏิบัติภายหลังให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไปโดยลำพังได้การโอนลอยหุ้นให้แก่ธ. จึงเป็นเพียงขั้นตอนที่จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายของตนแล้วเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้นยังมิได้เป็นขั้นตอนการโอนที่เสร็จเด็ดขาดและความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1129วรรคสองที่บัญญัติว่าการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อเป็นโมฆะนั้นเป็นการกำหนดแบบของการโอนหุ้นว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้มีหลักฐานการโอนที่แน่นอนเท่านั้นหาใช่เป็นแบบของการซื้อขายหุ้นไม่ผู้ซื้อหุ้นที่มิได้ทำการโอนให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวยังไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทยังไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้เท่านั้นจึงมิอาจถือเป็นการขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะไม่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนต่อในช่วงสุดท้ายยังอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิในหุ้นพิพาทที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปตามกฎหมายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดและที่งอกติดกับที่ดิน การซื้อขายต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด
เมื่อที่งอกอยู่ติดกับที่ดินมีโฉนดที่งอกย่อมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวและเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. โดยหลักส่วนควบด้วยผลของกฎหมายไม่จำต้องรังวัดขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเดิมเสียก่อนแล้วที่งอกจึงจะเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ การที่ ส. ขายที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินมีโฉนดให้โจทก์ถือว่าได้แบ่งที่ดินมีโฉนดขายแก่โจทก์หาใช่เป็นการขายที่ดินมือเปล่าแต่อย่างใดไม่การซื้อขายที่ดินมีกรรมสิทธิ์จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์กับ ส. เพียงแต่ทำสัญญาซื้อขายกันเองไม่ได้ทำตามแบบจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคแรกโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1358/2505

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พิพากษาพินัยกรรมโมฆะเนื่องจากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด และข้อตกลงสละมรดกที่ไม่สมบูรณ์
พินัยกรรมตามแบบมาตรา 1656 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นจึงจะสมบูรณ์ จึงต้องฟังข้อเท็จจริง (ให้) ได้ (ความ) ว่า มีการกระทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด มิใช่เพียงแต่ฟังตามตัวหนังสือที่เขียนขึ้นไว้ พินัยกรรมที่มีบันทึกผู้รู้เห็นเป็นพยาน 5 คน แต่คนหนึ่งในจำนวนนี้ไม่ได้ลงชื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างพยานที่ลงชื่อ 4 คนนี้มาสืบว่า 3 คนในจำนวนนี้เซ็นชื่อลับหลังผู้ทำพินัยกรรม คงมีคนเดียวที่ผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์ลายมือต่อหน้า ดังนี้ แม้จะเป็นการสืบพยานแก้ไขข้อความในเอกสาร แต่ก็เป็นการนำสืบเพื่อแสดงความไม่สมบูรณ์ของเอกสารนั้น ย่อมนำสืบได้
ก.จำเลยกับ ฮ.บุตรของเจ้ามรดกตกลงแบ่งมรดกกัน โดย ก.จำเลยตกลงแบ่งที่ดินหมายเลข 4 ให้ฮ. ฮ.ก็ตกลงแบ่งที่ดินหมายเลข 5 ให้ ก. จำเลย และต่างทำเป็นหนังสือสละมรดกโดยต่างทำให้แก่กัน เมื่อปรากฏว่า ก.ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดก เพราะเป็นแต่สะใภ้ไม่มีอำนาจแบ่งมรดกได้ ข้อตกลงนี้ก็ไม่สมบูรณ์ และหนังสือนี้เป็นแต่ข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์มรดกเท่านั้น มิใช่เป็นการสละมรดกตามกฎหมาย เพราะยังมีข้อผูกพันจะต้องแบ่งมรดกบางส่วนตอบแทนให้ ฮ. ทายาทอื่นที่มิใช่คู่สัญญาหามีสิทธิจะอ้างข้อตกลงนี้ (หนังสือที่ฮ.ทำ) เป็นประโยชน์แก่ตนไม่
พินัยกรรมที่ทำขึ้นผิดแบบตามมาตรา 1656 เป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไม่เป็นพินัยกรรมเสียแล้ว ความเสียเปล่านี้ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หาต้องฟ้องขอให้เพิกถอนไม่ ตามมาตรา 1710 ใช้เฉพาะเมื่อเป็นพินัยกรรมแล้วเท่านั้น