คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แบ่งขาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการร้องขอกันส่วนที่ดิน เจ้าของรวมมีสิทธิขอให้แบ่งขายเฉพาะส่วนก่อนได้
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินครึ่งหนึ่งทางทิศเหนือเป็นส่วนสัดมาตั้งแต่ได้รับการยกให้จากบิดา เมื่อโจทก์รับจำนองที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยโจทก์ก็ทราบว่ารับจำนองเฉพาะที่ดินส่วนที่อยู่ทางทิศใต้ดังนี้ โจทก์จะบังคับคดียึดที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดให้ผู้ร้องกันเงินครึ่งหนึ่งที่ได้จากการขายทอดตลาดมิได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะขอให้กันที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือของผู้ร้องออกก่อนขายทอดตลาด
กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องการร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 มิใช่เป็นการร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา 288 จึงเรียกค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์มิได้เมื่อศาลอุทธรณ์เรียกค่าขึ้นศาลมาไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาย่อมสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2508 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมไม่เกิดเมื่อเจ้าของที่ดินใช้ทางเดินเองก่อนแบ่งขาย และฟ้องไม่ใช่อ้างทางจำเป็น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น เมื่อที่ดินทั้งหมดยังเป็นของโจทก์ การที่โจทก์ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นทางเดินเข้าออก ก็เป็นเรื่องโจทก์ให้อำนาจกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง แม้จะฟังว่าโจทก์ได้ใช้เป็นทางเดินมาถึง 20 ปี ก่อนขายให้จำเลย ก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมเหนือที่ดินของโจทก์เอง
โจทก์ฟ้องมุ่งประสงค์จะให้จำเลยเปิดทางเดินซึ่งเป็นภารจำยอมติดที่ดินซึ่งโจทก์แบ่งขายให้จำเลยประการหนึ่ง และจำเลยยังได้ให้สัญญากับโจทก์ว่าจะเปิดทางให้โจทก์เดินด้วยอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้เว้นทางให้โจทก์เดินเพียงกว้าง 50 เซ็นติเมตร แสดงว่าบุตรโจทก์สามารถเดินเข้าออกได้ หากโจทก์ไม่พอใจ จะขอให้จำเลยเปิดทางกว้าง 1.5 เมตร ตามที่อ้างว่าเป็นภารจำยอมหรือมีข้อตกลง จึงได้ฟ้องจำเลย มิใช่ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออก เห็นได้ชัดว่าฟ้องโจทก์มิได้ ประสงค์จะอ้างสิทธิในเรื่องทางจำเป็น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์ต่อไปว่าเป็นทางจำเป็นหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อหากำไรและการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ/เงินได้บุคคลธรรมดา กรณีแบ่งขาย/จัดทำสิ่งสาธารณูปโภค
การที่โจทก์นำที่ดินที่แบ่งแยก โดยได้จัดทำถนนและสิ่งสาธารณูปโภคไว้ ไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่บุคคลธรรมดา เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน และทำสัญญาให้ที่ดินแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายถือกรรมสิทธิ์ ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) ประกอบมาตรา 3 (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 และมาตรา 4 (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 และเงินได้ที่โจทก์ได้มาจากการขายที่ดินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 48 (4) (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) (2) แห่ง ป.รัษฎากร
เมื่อที่ดินมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขายโดยจัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น ๆ การที่โจทก์ยกที่ดินที่เหลือจากการขายให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) จึงย่อมเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 4 (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ฉบับที่ 342 ดังนั้น แม้ต่อมาโจทก์ได้ยกที่ดินจำนวน 49 แปลงให้แก่บุตรก็ไม่ต้องพิจารณาว่าเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 4 (6) (ง) แห่ง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวอีก