คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แย่งการครอบครอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 231 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4659/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาท: การซื้อขาย vs. การแย่งการครอบครอง และประเด็นอายุความ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตลอดมา ดังนี้ ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น หาได้หมายถึงที่ดินที่ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเองไม่ การที่จำเลยยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการซื้อมาจากโจทก์จึงไม่เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4267/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันลักทรัพย์: การครอบครองทรัพย์สินชั่วคราวไม่ถือเป็นการยักยอก แต่เป็นการแย่งการครอบครอง
จำเลยร่วมกับ ป. ขนท่อแก๊สของผู้เสียหายลงจากรถยนต์บรรทุกที่ ป. เป็นผู้ขับไปไว้ในที่เกิดเหตุเพื่อขายต่อให้แก่บุคคลอื่น การที่จำเลยและ ป. ครอบครองท่อแก๊สในขณะที่นำไปส่งให้ลูกค้าของผู้เสียหายเป็นการครอบครองแทนผู้เสียหายไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การครอบครองโดยแท้จริงยังอยู่ที่ผู้เสียหาย เมื่อจำเลยนำท่อแก๊สไปกองทิ้งในที่เกิดเหตุจึงเป็นการเคลื่อนย้ายท่อแก๊สจากที่ตั้งปกติเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะขายแก่บุคคลอื่น เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการร่วมกับ ป. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: การพิสูจน์การครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและการแย่งการครอบครอง
จำเลยถึงแก่กรรมขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้าเป็นคู่ความแทนที่ เมื่อ บ. ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยจริงหรือไม่แล้วส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพื่อพิจารณาสั่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2421/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดิน: ศาลวินิจฉัยว่าการฟ้องแย่งการครอบครองไม่เกิดขึ้นหากจำเลยอ้างเป็นเจ้าของแต่แรก
จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 3 จึงเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่ต้น ไม่มีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9085/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดิน: การยึดถือแทนเจ้าของเดิมไม่ถือเป็นการแย่งการครอบครอง และสิทธิในการเรียกร้องราคาที่ดิน
การตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างโจทก์กับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 518 อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งมาตรา 519 ระบุให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายมาใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย เมื่อฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้เจรจาต่อรองกันมาตลอด แม้ที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเปลี่ยนจะเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยที่ 1 ก็ตกลงที่จะดำเนินการให้สามารถโอนที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นแลกเปลี่ยนกับที่ดิน ส.ค. 1 ของ ก. ปู่โจทก์ซึ่งต่อมาเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ และจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นให้แก่โจทก์จนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดให้ความเห็นชอบในการออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจดำเนินการโอนที่ดินนั้นให้โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ได้ แสดงว่าการตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่การแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดิน เมื่อปรากฏว่า ก. ได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินของตนกับจำเลยที่ 1 และได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าทำถนนในที่ดินดังกล่าวจึงเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วน ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกัน ตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 ของ ก. และทำเป็นถนนสาธารณะจึงเป็นการยึดถือแทน ก. จ. บิดาโจทก์ และโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ยึดถือในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินนั้น ไปยัง ก. หรือ จ. หรือโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินนั้นแทน ก. หรือ จ. หรือโจทก์ต่อไป อันจะถือเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าว กรณีจึงยังไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาที่ฝ่ายโจทก์ถูกแย่งการครอบครองที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสองได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมโดยออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนได้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิได้รับโอนที่ดินของโจทก์จากโจทก์ และจำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินนั้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดินนั้นแก่โจทก์ได้
เมื่อการแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับที่ดิน ส.ค. 1 ระหว่างฝ่ายจำเลยที่ 1 กับฝ่ายโจทก์เป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดิน สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของฝ่ายโจทก์ มิใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงบังคับกันได้ และหากมีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้โจทก์ ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นก็สามารถโอนให้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ดังนี้ การกระทำของนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเรื่องสิทธิครอบครองเมื่อยังไม่มีการแย่งการครอบครองเป็นเหตุไม่มีสิทธิฟ้อง
คำฟ้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ดังนั้นเพียงแต่จำเลยนำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยที่จำเลยไม่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทข้ออ้างในการที่จำเลยแย่งสิทธิครอบครองจึงยังไม่เกิด ทั้งคำขอท้ายฟ้อง มิได้ขอให้ศาลขจัดข้อที่โจทก์อ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิ คือมิได้ขอให้ห้ามมิให้จำเลยออกโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองโดยที่จำเลยยังไม่ได้เข้าไปแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6345-6346/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินสิ้นสุดลงเนื่องจากโจทก์ไม่ฟ้องแย่งการครอบครองภายใน 1 ปี ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความใช้บังคับไม่ได้
คดีก่อนพนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้ลงโทษ ช. สามีจำเลย ข้อหาบุกรุกที่ดินของโจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า ช. และจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2528 หรือก่อนปี 2528 อันเป็นการบุกรุกแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ ช. บุกรุก เข้าแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองและสิทธิครอบครองของโจทก์ก่อนสิ้นสุดลง ที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะทายาทของ ช. ให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับ ช. และให้ขับไล่จำเลย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงจึง ฟังได้ว่าสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว คำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และ ช. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทายาทของ ช. ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีมาก่อนที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้พิพากษาไปแล้ว และให้ขับไล่จำเลยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5607/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งการครอบครองและอายุความฟ้องคดี การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ
บ. บิดาโจทก์ได้แบ่งที่ดินให้ ว. มารดาจำเลยเข้าอยู่อาศัยและการที่ ว. ได้ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินภายหลังจาก บ. ได้ขอรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของ บ. ผู้ขอออกโฉนด แต่เป็นที่ดินของ ว. ได้ครอบครองมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว การคัดค้านของ ว. เป็นการโต้แย้งสิทธิซึ่งถือว่า บ. ได้ทราบแล้วพฤติการณ์ของ ว. เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทน บ. ต่อไปอีก และ ว. ได้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาท เพื่อตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ต่อมา บ. ได้ถึงแก่กรรม โจทก์ได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกและได้เข้าสวมสิทธิการดำเนินการขอออกโฉนดที่ดิน ว. กับพวกได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดิน แสดงให้เห็นว่า ว. ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทตลอดมายืนยันว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และในการที่ ว. ถอนคำคัดค้านก็เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ทราบว่าได้มีประกาศสำนักงานที่ดิน หากไม่ถอนคำคัดค้านจะถูกฟ้องร้อง เมื่อ ว. ยังครอบครองที่พิพาทอยู่และได้คัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดของโจทก์ต่อไปอีก จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิและเป็นการที่ ว. เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นของตนตั้งแต่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านแล้ว หลังจากนั้น ว. ยกที่พิพาทให้จำเลยและจำเลยได้ร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่พิพาทเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684-3685/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินหลังการแย่งการครอบครองและผลของการไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" ตามคำให้การจำเลยที่ 1 สำนวนแรกและคำให้การจำเลยที่ 2 สำนวนที่สอง มีข้อความระบุชัดว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี แล้ว แต่โจทก์มิได้ฟ้องขับไล่ภายในกำหนดเวลาปีหนึ่งนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยกเอาเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่งขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การแล้ว
จำเลยที่ 2 แสดงเจตนาอันชัดแจ้งเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์โดยประสงค์จะแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท (ส.ค.1) นับแต่มีการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินเป็นต้นมา จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในปีหนึ่งนับแต่นั้น โจทก์ก็ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1235/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินต่อเนื่องโดยชอบธรรม ไม่ถือเป็นการแย่งการครอบครอง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืน
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินซึ่งมีเขตติดต่อกับที่ดินของมารดาโจทก์ โดยจำเลยซื้อมาจากผู้อื่น ผู้ขายได้ชี้แนวเขตที่ดินตามแนวเขตเช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำเลยครอบครองที่ดินตลอดมา ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาทมาแต่ต้น มิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ เพราะการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อคดีไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองศาลจึงจะยกปัญหาในข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามป.พ.พ.มาตรา 1375 วรรคสอง โดยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยเองตามที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับข้อที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดก็ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยและคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนและไม่คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยจึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
of 24