คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แรงงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 77 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5033/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาฟ้องคดีแรงงาน: ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้เพื่อความยุติธรรม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง" ซึ่งกำหนดเวลาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ เป็นการใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" ดังนั้น กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงสามารถย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้าง: สิทธิจากกฎหมายแรงงานไม่ต้องเสนออนุญาโตตุลาการ
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อ 12 มีข้อความเพียงว่า "ข้อโต้แย้งซึ่งไม่สามารถยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมระหว่างคู่สัญญาให้ได้รับการชี้ขาดและยุติโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์ก" ซึ่งไม่ได้ระบุแยกแยะข้อโต้แย้งที่จะให้ระงับโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์กไว้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเฉพาะข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน ฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ใช่การฟ้องเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงมิใช่ข้อโต้แย้งตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาลได้โดยไม่ต้องเสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงาน: การเข้าถือเอาประโยชน์แห่งสัญญา แม้การแต่งตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย สัญญาจ้างยังผูกพัน
คำให้การของจำเลยข้อ 1.1 และ 1.2 อ้างว่าผู้บริหารของจำเลยไม่มีอำนาจทำสัญญาจ้างโจทก์แทนจำเลย สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ส่วนคำให้การข้อ 1.4 อ้างว่าโจทก์พ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีไปแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งดังกล่าวต่อไป เป็นการยอมรับว่าจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ในตำแหน่งรองอธิการบดีตามสัญญาจ้างแต่ปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาสิ้นผลผูกพันคำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง
จำเลยโดยอธิการบดีของจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งรองอธิการบดี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 90,000 บาท ก่อนถึงวันเริ่มงานตามสัญญาทบวงมหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้จำเลยอยู่ในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยจำเลย แม้หลังจากนั้นอธิการบดีของจำเลยออกคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นรองอธิการบดีโดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการควบคุมฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภาสถาบันแต่งตั้งตามกฎหมายก็ตามแต่จำเลยก็ให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเรื่อยมา จึงเป็นกรณีที่จำเลยเข้าถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาจ้างแล้ว จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว และ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมฯ ที่จะแก้ไขข้อตกลงตามสัญญาจ้างได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น การที่คณะกรรมการควบคุมฯ เคยออกคำสั่งให้โจทก์ไปทำหน้าที่อาจารย์ประจำ และปฏิบัติภาระหน้าที่อื่นตามที่จำเลยมอบหมายโดยปรับอัตราเงินเดือนโจทก์ใหม่เป็นเดือนละ 60,000 บาท โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอมจึงไม่อาจใช้บังคับโจทก์ได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราเดิมตามข้อตกลงตามสัญญาจ้างอันเป็นสภาพการจ้างที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติให้เป็นตามนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากความผิดทางอาญาและอายุความค่าชดเชย แรงงานต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในอายุความ
ลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันดังกล่าว และหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีขึ้นเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาจ้างของลูกหนี้มิใช่เงินที่กำหนดจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานหรือต้องจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน หนี้ค่าชดเชยและสินค้าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่ค่าจ้างและไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนหนี้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงินที่ลูกหนี้จะต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นสินจ้างตามมาตรา 575 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) เมื่อนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความแล้ว ไม่อาจขอรับชำระหนี้เฉพาะหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
มีคนร้ายลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ไป ลูกหนี้ได้มอบอำนาจให้พนักงานการเงินและบัญชีไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ผลจากการสืบสวนได้ตรวจพบรอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝงของเจ้าหนี้ในที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจึงดำเนินคดีแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จึงได้เลิกจ้างเจ้าหนี้ และต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดข้อหาลักทรัพย์การที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาล้วนมีขึ้นจากดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการ การที่ลูกหนี้ร้องขอจนศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ลูกหนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการล้วนเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนสอบสวนแล้วดำเนินคดีแก่เจ้าหนี้ย่อมบ่งชี้และทำให้ลูกหนี้เข้าใจได้ว่าเจ้าหนี้เป็นผู้ลักทรัพย์ของลูกหนี้ไป ซึ่งเป็นเหตุอันสมควรที่ลูกหนี้จะเลิกจ้างเจ้าหนี้ได้ แม้ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ก็ไม่มีผลทำให้การเลิกจ้างของลูกหนี้กลับเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นบทกฎหมายที่กำหนดให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในขณะมีการเลิกสัญญาจ้างแรงงาน มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ไว้โดยชัดแจ้ง ศาลล้มละลายกลางกำหนดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 จึงชอบแล้ว
เมื่อลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่เจ้าหนี้ทันที เมื่อไม่จ่ายให้ ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป แต่สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องที่พ้นกำหนดอายุความดังกล่าวเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้มีการทวงถามก่อน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยให้นับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8233-8236/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่มาศาลโจทก์ในวันนัดสืบพยานจำเลย ไม่ถือเป็นการสละสิทธิฟ้องคดี แรงงาน
ศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีของโจทก์ทั้งสี่ไว้พิจารณาและได้กำหนดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์รวมไปกับวันนัดพิจารณาดังกล่าวด้วย ก็เป็นเพียงวิธีการเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น วันนัดพิจารณาคดีทั้งสามครั้งของศาลแรงงานกลางเป็นการกำหนดนัดพิจารณาตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 บัญญัติไว้ เพื่อให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมาศาลพร้อมกันแล้วให้ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันโดยถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ในวันนัดพิจารณาตามที่บัญญัติในมาตรา 37 นี้ หากโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่ไปศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลแรงงานกลางต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามครั้งโจทก์ทั้งสี่ไปศาลตามกำหนดนัดทุกครั้งจึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป อันจะอ้างเป็นเหตุจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยไม่อาจตกลงกัน การที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและวันนัดสืบพยานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็เพื่อที่ศาลแรงงานกลางจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 คงมีผลเพียงทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียสิทธิที่จะขออนุญาตศาลแรงงานกลางถามพยานจำเลยเพื่อทำลายน้ำหนักพยานจำเลยเท่านั้น ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 993/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกปฏิบัติทางแรงงาน: นายจ้างสั่งงานล่วงเวลาเพื่อบีบคั้นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้อง
แม้โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ลูกจ้างทำงานวันละ 3 กะก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานวันละ 2 กะเป็นส่วนใหญ่ โดยให้ทำกะละ 12 ชั่วโมง จำนวน 8 ชั่วโมงแรกเป็นการทำงานปกติ พัก 1 ชั่วโมง อีก 3 ชั่วโมง เป็นการทำงานล่วงเวลา ดังนั้น การที่โจทก์มีคำสั่งให้ จำเลยร่วมกับพวก ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทำงานวันละ 3 กะ ซึ่งโจทก์สั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากโจทก์และจำเลยร่วมกับพวกทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น แม้จะเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะสั่งได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อบีบคั้นจำเลยร่วมกับพวกให้ไม่สามารถทนทำงานอยู่ ต่อไปได้ เพราะเหตุที่จำเลยร่วมกับพวกยื่นข้อเรียกร้องหรือเป็นตัวแทนเจรจา อันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 (1)
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้วินิจฉัยในคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า การสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลานั้นเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะพิจารณาสั่งให้ทำหรือไม่ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และไม่มีกฎหมายรองรับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ออกคำสั่งบังคับให้โจทก์สั่งให้จำเลยร่วมกับพวกทำงานล่วงเวลาได้ คำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินช่วยเหลือจากการประนีประนอมยอมความทางแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง แต่เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อให้คดีดังกล่าวเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมโดยระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นเงินตามฟ้องประเภทใด จึงมิใช่ค่าชดเชยเพราะนอกจากจะไม่ได้ระบุแล้วยังไม่ปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดอันจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย จึงไม่ได้รับยกเว้นรัษฎากรตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126(พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 217(พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2(51)
การที่จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้มาเนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) จึงเป็นเงินได้พึงประเมินเมื่อไม่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 42 จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535-6775/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การเลิกจ้าง, ค่าชดเชย, ดอกเบี้ย, และการคำนวณค่าต่างๆ
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 98 และ 103 และข้อบังคับของสหภาพแรงงาน ท. มิได้บังคับว่ามติที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานที่ให้ยื่นข้อเรียกร้องจะต้องมีรายละเอียดว่าให้เรียกร้องสิ่งใดเช่น ค่าจ้าง สวัสดิการ เป็นจำนวนเท่าไร และตั้งใครเป็นผู้แทนในการเจรจา ตามที่จำเลยอ้าง ดังนั้น มติที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงาน ท. ที่เพียงแต่ระบุให้สหภาพแรงงาน ท. ยื่นข้อเรียกร้องซึ่งเป็นกิจการอันมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของสมาชิกไว้ลอย ๆ โดยไม่มีรายละเอียดดังกล่าว จึงเป็นมติที่ชอบตาม มาตรา 103 (2) และข้อบังคับของสหภาพแรงงาน ท.
ข้อความที่ว่า "ประธานกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเลย ฉะนั้นในปีนี้เราจำเป็นจะต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปี 2539 นี้ จึงอยากให้ที่ประชุมลงมติว่าเราจะยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่ยื่น" มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าเป็นเพียงคำกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลของประธานต่อที่ประชุมใหญ่ว่าเพราะเหตุใดจึงขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่เท่านั้น หาได้หมายความว่าให้ที่ประชุมลงมติว่าให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในสิ้นปี 2539 ด้วยไม่ เมื่อที่ประชุมใหญ่มิได้ลงมติไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในปี 2539 และไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกระทำในระยะเวลาใด สหภาพแรงงาน ท. จึงสามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยได้ภายในระยะเวลาอันสมควร ที่ประชุมใหญ่ลงมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงาน ท. ได้ยื่นข้อเรียกร้องมาก่อน การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ท. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว
การที่สหภาพแรงงาน ท. ทำหนังสือแจ้งข้อพิพาทแรงงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาททราบตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 21 ในวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการ โดยไปยื่นต่อ ส. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวรประจำที่ทำการของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จึงถือได้ว่าสหภาพแรงงาน ท. ได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานแล้ว
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่ยอมจ่ายย่อมถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม จำเลยจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 ตั้งแต่วันเลิกจ้าง และเพื่อความเป็นธรรมอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 18 นับแต่วันเลิกจ้างด้วย แม้โจทก์ดังกล่าวจะไม่ได้อุทธรณ์ก็ตาม
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้าง และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364-5368/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงานของครูโรงเรียนเอกชน และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยต่างเป็นเอกชน ได้ตกลงกันโดยจำเลยตกลงรับโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานตำแหน่งครูผู้สอน และจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งห้าตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 มิใช่สัญญาทางปกครองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน
โจทก์ทั้งห้าเป็นครูตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเพื่อเรียกร้องสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 32 และข้อ 33 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 44 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 และฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 ซึ่งมิใช่ฟ้องเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ส่วนที่ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ก็มิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยได้
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 และมีคณะกรรมการประนีประนอม หรือคณะกรรมการคุ้มครองเพื่อพิจารณาหรือพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดแล้วแต่กรณี เป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวก็ตาม ก็มิใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 ก่อน
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดย พ. เป็นผู้ลงนาม เป็นการทำการแทน อ.ผู้รับใบอนุญาตและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จำเลยในฐานะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่ตัวแทนได้ทำไปในขอบอำนาจตามมาตรา 820 ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษครูได้ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนคือผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้รับใบอนุญาต การที่ พ. เป็นผู้ลงนามในคำสั่งเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยมิได้อ้างข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยบรรจุโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานวันใด ห่างจากวันที่โจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานกี่วัน และศาลแรงงานกลางคิดคำนวณค่าชดเชยผิดพลาดเท่าใด ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กล่าวข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การเป็นนายจ้าง, การยอมรับข้อเท็จจริง, สิทธิเรียกร้องหลังการระงับกิจการ
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนจัดตั้งธนาคาร จ. โดยตกลงให้จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานของธนาคารรวมทั้งโจทก์ไปก่อน จำเลยจึงเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นในธนาคารและเป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคาร จำเลยกับผู้ร่วมทุนทั้งหมดย่อมมีฐานะร่วมเป็นนายจ้างของโจทก์ประกอบกับโครงการจัดตั้งธนาคาร จ.ต้องระงับลงเพราะจำเลยกับบริษัทเงินทุน ซ.หนึ่งในผู้ร่วมทุนถูกทางราชการสั่งให้ระงับการดำเนินการ ธนาคาร จ.จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยอุทธรณ์ว่า ธนาคาร จ.เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลย และมีผู้ร่วมก่อการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จนปัจจุบันนี้จำเลยก็ยังมิได้เข้าชื่อซื้อหุ้นธนาคาร จ. จะถือว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นมิได้ จำเลยมิได้มีส่วนควบคุมดูแลสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแทนธนาคาร จ.เท่านั้น จำเลยมิได้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงค่าจ้างค้างจ่าย อายุงาน และค่าจ้างอัตราสุดท้ายไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว เมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีอายุงาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
แม้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคสอง จะให้สิทธิแก่จำเลยที่จะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การเป็นหนังสือแล้วก็ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.พ. เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งในข้อใดย่อมถือว่าจำเลยให้การรับในข้อนั้นแล้ว
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรับที่จะจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ตามฟ้องเนื่องจากมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธในประเด็นนี้โดยชัดแจ้งแล้วตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบในประเด็นนี้ประกอบกับสัญญาจ้างงานระบุว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธนาคาร จ.เป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสิบสามจะได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆ ของจำเลยในส่วนที่มิได้ระบุไว้ในสัญญานี้ ยกเว้นเรื่องการจ่ายเงินโบนัสจะเป็นไปตามประกาศของโครงการธนาคาร จ.จนกว่าจะมีการจัดตั้งธนาคาร จ.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบข้อบังคับของธนาคาร จ. แสดงว่า โจทก์จะได้รับเงินโบนัสต่อเมื่อมีการจัดตั้งธนาคาร จ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อไม่อาจจัดตั้งธนาคารดังกล่าวได้ ประกอบกับระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส
จำเลยอุทธรณ์ว่า พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2540 บัญญัติให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดการชำระบัญชีรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยออกประมูลเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทุกราย โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยใช้สิทธิไม่สุจริตยื่นฟ้องคดีนี้จึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้อันเป็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พ.ร.ก.การปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้นเมื่อคดีนี้ไม่ใช่คดีล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดี
of 8