คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โมฆะสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญาซื้อขายที่ดินจัดสรรช่วงห้ามโอน และสิทธิจำนองของผู้รับจำนองสุจริต
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 มิใช่ใบมอบอำนาจ ที่แท้จริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 ศาลจึงรับฟังตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ว่า พ. มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2
โจทก์ และ ส. บิดาจำเลยที่ 1 ต่างเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยที่ 2 ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และนำหนังสืออนุญาตให้ ส. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประเภท กสน. 5 ไปขอออก น.ส. 3 ก. แล้วทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ได้รับ น.ส. 3 ก. สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินจัดสรรของนิคมสหกรณ์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเช่า-ขายฝากอสังหาริมทรัพย์: อำนาจฟ้องขับไล่และโมฆะสัญญา
จำเลยอยู่ในที่ดินของวัดโดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. มารดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมจากวัดมาแต่ต้น แม้สัญญาเช่าระหว่าง ส. กับวัด ระงับไปแล้ว อันถือได้ว่าจำเลยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมเป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดินมิใช่ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ ซึ่งไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินตามสัญญาเช่ามาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดิน
ส. ขายฝากบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของวัดแก่ ล. ภริยาโจทก์ แม้ระบุชื่อสัญญาว่าขายฝากเฉพาะสังหาริมทรัพย์ แต่เนื้อหาสัญญาระบุขายฝากบ้านพร้อมที่ดิน ครั้นเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน ล. อาศัยสัญญาขายฝากไปทำสัญญาเช่าที่ดินจากวัดทันทีโดย ล. รับซื้อฝากบ้านเพื่ออยู่อาศัย มิใช่รื้อถอนไปอย่างสังหาริมทรัพย์จึงถือได้ว่าเป็นการขายฝากบ้านในลักษณะอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 491 ล. ไม่ใช่เจ้าของบ้าน เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมโจทก์ซึ่งเป็นทายาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญาขายฝาก, ลาภมิควรได้, การคืนเงิน, ดอกเบี้ยผิดนัด, เพิกถอนทะเบียน
เมื่อสัญญาขายฝากที่ดิน น.ส.3 ตกเป็นโมฆะ การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับกล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งก็ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ เพราะเป็นหนี้เงิน แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่าได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่รับไว้และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5389/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่และโมฆะสัญญาซื้อขายที่ดินนิคมฯ ผู้ขายโอนไม่ได้
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอาจให้เช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท แม้โจทก์จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราปีละ 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป แต่โจทก์ก็มิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น หากแต่เรียกร้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้ตั้งประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ด้วยก็ตามแต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเอง ยังไม่มีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้สมาชิกของนิคมหรือทายาทผู้รับมรดกโอนไปยังบุคคลภายนอกตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511มาตรา 12 วรรคหนึ่ง การที่ผู้รับมรดกที่ดินพิพาทโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 113 เดิม แม้จะมอบการครอบครองในระยะเวลาห้ามโอนผลก็เท่ากับเป็นการฝ่าฝืนวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ห้ามโอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะเข้าไปหาประโยชน์ ยึดถือหรือครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3317/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: การซื้อขายฝากและโมฆะสัญญาที่ดิน - จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน
ในคดีก่อนจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ในคดีนี้ออกจากที่พิพาท จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ให้การต่อสู้คดีโดยยกเหตุผลอย่างเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้ ในที่สุดคู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์คดีนี้ยอมซื้อที่พิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความด้วย ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญาซื้อขายหุ้นจากการแสดงเจตนาลวง แต่ต้องรับผิดต่อบริษัทจำเลยสุจริต และเอกสารมหาชนมีผลสันนิษฐานถูกต้อง
การที่ผู้ร้องรับซื้อหุ้นบริษัทจำเลยมาจาก ก. โดยสมรู้กันเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการแสดงเจตนาลวงระหว่างผู้ร้องกับ ก. สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะแต่เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยรู้เห็นกับการแสดงเจตนาลวง โดยรับจดแจ้งการโอนหุ้นในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามสัญญาซื้อขายโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงดังกล่าว เนื่องจากบริษัทจำเลยไม่อาจเรียกเอามูลค่าหุ้นที่ขาดจาก ก. ได้ผู้ร้องจึงไม่อาจยกความเป็นโมฆะขึ้นต่อสู้กับบริษัทจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 118วรรคแรก บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่รับรองเป็นเอกสารมหาชนต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะมีการชำระค่าหุ้นพิพาทเต็ม มูลค่าแล้ว ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3926/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญาซื้อขาย & การชำระหนี้เพื่อประโยชน์จำเลย: สิทธิเรียกร้องเงินคืนจากผู้รับประโยชน์
จำเลยขายที่พิพาทให้โจทก์ โดยให้โจทก์ไถ่ถอนการขายฝากจาก ส. เป็นการชำระเงินค่าที่พิพาทส่วนหนึ่ง โจทก์นำที่พิพาทไปจำนองกับธนาคารเพื่อประกันหนี้เงินที่โจทก์กู้มาไถ่ถอนการขายฝาก ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์และศาลฎีกาพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวง ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ปรากฏว่าโจทก์ได้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารไปตามสัญญาจำนองก่อนแล้วจำนวน 106,373.20 บาท จำเลยคงชำระเงินส่วนที่เหลือแก่ธนาคารเป็นการไถ่ถอนการจำนองอีกเพียง 26,601.44 บาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาในสภาพที่ปลอดจำนองด้วยเงินที่โจทก์ชำระไปส่วนหนึ่ง ซึ่งจำเลยไม่มีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ ทั้งโจทก์มิได้ชำระหนี้ไปตามอำเภอใจ จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 โจทก์ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถือว่าเป็นวันที่รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืน อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย เมื่อฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาที่ทราบคำพิพากษาศาลฎีกา จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาคดีขับไล่มีผลผูกพันคดีโมฆะสัญญาขายฝาก ศาลงดสืบพยานได้
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะ ปรากฏว่ากรณีเดียวกันนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ (คดีนี้) เป็นอีกคดีหนึ่ง ประเด็นคดีดังกล่าวและประเด็นแรกของคดีนี้ตรงกันว่า การขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นโมฆะหรือไม่ เมื่อในคดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของโจทก์ (คดีนี้) รับฟังไม่ได้ พิพากษายืนให้ขับไล่โจทก์ (คดีนี้) ก็เท่ากับศาลฎีกาฟังว่าการขายฝากไม่เป็นโมฆะ ทั้งฝ่ายจำเลยก็อ้างสำนวนดังกล่าวเป็นพยานในคดีนี้ด้วย ข้อเท็จจริงจึงเพียงพอที่จะนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อแรกของคดีนี้แล้ว ไม่จำต้องสืบพยาน และเมื่อประเด็นอีกสองข้อเป็นปัญหาข้อกฎหมาย กับข้อที่เป็นผลมาจากการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งไม่ต้องสืบพยานเช่นเดียวกันฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานคดีนี้จึงชอบแล้ว.