คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนบัตรภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลอกลวงขอเงินชดเชยภาษีอากร, การโอนบัตรภาษีโดยไม่ชอบ, ความรับผิดร่วมกันของจำเลยในการชดใช้เงินและดอกเบี้ย
ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 การนับเวลา ยื่นอุทธรณ์ 1 เดือน ต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 และสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ตามมาตรา 193/5 โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 28 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า 22 ฉบับ ออกไปนอกราชอาณาจักร แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการหลอกลวงโจทก์ โดยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่อ้างว่าส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกฯ ดังกล่าวจนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของ บัตรภาษี จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน จำเลยที่ 3 จึงได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชย ค่าภาษีอากรที่จ่ายในรูปบัตรภาษีจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 3 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทน โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 แต่ฟ้องคดีวันที่ 5 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึง ขาดอายุความ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมูลละเมิดหรือไม่เท่านั้น เมื่อคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่าเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ลาภมิควรได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ลาภมิควรได้สำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยที่ 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง ศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17, 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ที่จำเลยที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า เอกสารชุดคำขอที่โจทก์อ้างส่งเป็นเอกสารที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับบัตรภาษีและนำบัตรภาษีของโจทก์ไปใช้แล้วนั้น เป็นคำแก้อุทธรณ์ที่ขัดกับคำให้การของจำเลยที่ 3 จึงเป็นข้อที่มิได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 รับไปจากโจทก์ จึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคาตามที่กำหนดไว้ในบัตรภาษีให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่าส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร แล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้น และโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็น ผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องคืนบัตรภาษีดังกล่าว หากคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ราคาและตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดหรือวันที่รับบัตรภาษี
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ตามพฤติการณ์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นหรือเวลาที่โจทก์เรียกคืนบัตรภาษีเพราะมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ให้คืนบัตรภาษีเมื่อใด ถือว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คืนบัตรภาษีนับแต่วันฟ้อง