คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนสิทธิที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 187/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการโอนสิทธิที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตย่อมได้สิทธิเหนือผู้ครอบครองเดิมที่ไม่จดทะเบียน
ผู้คัดค้านซื้อที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งรวมที่ดินพิพาทมาด้วย จากส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์โดยสุจริต ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก่อนที่ ผู้คัดค้านจะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจาก ส.แต่เมื่อผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ร้องจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียน นั้นขึ้นใช้ยันผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดย เสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองแม้ผู้ร้องจะยังครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาครอบครองใหม่ เมื่อยังไม่ถึง 10 ปี สิทธิของผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างต่อผู้คัดค้านไม่ได้ ผู้คัดค้านลงชื่อเป็นผู้แก้อุทธรณ์เอง และแม้ว่าทนาย ผู้คัดค้านจะลงชื่อเป็นผู้เรียงคำแก้อุทธรณ์ แต่ตามใบแต่งทนายความไม่ปรากฏว่ามีข้อความให้ทนายผู้คัดค้านมีอำนาจ ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์แทนผู้คัดค้าน จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้าน ยื่นคำแก้อุทธรณ์เอง โดยมิได้แต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดี ในชั้นอุทธรณ์ ดังนี้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ผู้ร้องใช้ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในที่ดินโดยผู้ไม่มีสิทธิ การครอบครองปรปักษ์ และความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ดิน
โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่6และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินแม้โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินที่โจทก์รับมาจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่7เป็นโฉนดที่ดินปลอมแต่โฉนดที่ดินฉบับหลวงก็ระบุไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเช่นนี้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงย่อมเป็นของโจทก์ตามกฎหมายการที่มีบุคคลอื่นซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอ้างว่าเป็นตัวโจทก์โดยใช้บัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าเป็นของโจทก์ปลอมกับหนังสือให้ความยินยอมที่ระบุว่าเป็นของภริยาโจทก์ปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่1แม้จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตามแต่เมื่อบุคคลดังกล่าวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นได้จำเลยที่1ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่1ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก็ย่อมไม่มีสิทธิใดๆในการที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นเช่นเดียวกันดังนั้นแม้จำเลยที่4และที่5ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่1โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งได้แก้ชื่อในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นชื่อของจำเลยที่4และที่5ก็ตามจำเลยที่4และที่5ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่เพราะเมื่อผู้โอนไม่มีสิทธิที่จะโอนให้แก่ผู้รับโอนผู้รับโอนจะได้สิทธิซึ่งไม่มีอยู่ไม่ได้ คดีนี้เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิอยู่ตลอดเวลาที่ทรัพย์สินของตนยังอยู่ในความครอบครองของบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้เสมอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดถึงสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินว่ามีสิทธิอย่างใดบ้างที่กฎหมายให้ความคุ้มครองอันเป็นอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งหาใช่การบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ภายในกำหนดอายุความดังที่บัญญัติไว้ในบรรพ1ลักษณะ6แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์สินจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา193/9และ193/30 ข้อที่จำเลยที่4และที่5ฎีกาว่าจำเลยที่4และที่5ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382นั้นจำเลยที่4และที่5ไม่ได้ให้การสู้คดีไว้แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยปัญหานี้ให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยที่7ได้กระทำไปเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่7ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์และแม้ว่ามูลละเมิดจะขาดอายุความแล้วโจทก์ก็มีสิทธิขอให้จำเลยที่7ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้ถูกต้องเพื่อแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นการเรียกทรัพย์คืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9158/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิที่ดินโดยสุจริต & การครอบครองปรปักษ์: สิทธิของบุคคลภายนอกที่จดทะเบียน
ตามคำฟ้องคำให้การคดีฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ส.เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว จำเลยให้การเพียงว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมากกว่า 10 ปี แล้ว มิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์มิใช่บุคคลภายนอกและซื้อที่ดินที่พิพาทโดยไม่สุจริต ดังนี้โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่จำเลยให้การว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียนขึ้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา1299 วรรคสอง และแม้จำเลยจะยังครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ เมื่อยังไม่ถึง 10 ปี สิทธิของจำเลยจึงยกขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ คดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องสืบพยานต่อไป การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาคดีไปจึงชอบแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงจากคำฟ้องโจทก์ โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ว่า โจทก์กระทำการซื้อขายโดยสุจริตกล่าวคือ ได้มีการเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและมีการจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเมื่อจำเลยมิได้กล่าวแก้มาในคำให้การว่า โจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริตคดีจึงไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ การที่จำเลยหยิบยกปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดิน: สัญญาจะซื้อขายที่มีเงื่อนไขการอนุญาตจากราชการมีผลสมบูรณ์
พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2517 มาตรา 44มิได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินโอนสิทธิในที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินยังอยู่ในวิสัยที่จะโอนสิทธิในที่ดินภายในกำหนดเวลาห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นได้หากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ดังนั้น สัญญาจะซื้อขายที่ดินซึ่งโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยว่า โจทก์จะโอนที่ดินให้แก่จำเลยเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการจึงไม่ใช่สัญญาที่กระทำลงโดยมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมาย สัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2502

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในที่ดินโดยมิได้จดทะเบียนและการคุ้มครองผู้ซื้อโดยสุจริต
แม้จะฟังเป็นความจริงดังจำเลยอ้างว่าบิดาได้ยกที่พิพาทมีโฉนดให้จำเลย จำเลยเข้าครอบครองติดต่อกันมา 19 ปี ก็ดี แต่เมื่อจำเลยไม่ได้จดทะเบียนสิทธิที่ได้มานั้นก็ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้และจำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับโอนมาด้วยการซื้อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่
โจทก์ขอแก้ฟ้องเฉพาะเลขที่ของโฉนด และจำนวนเนื้อที่ดินเพื่อให้ถูกต้องกับความจริงเป็นการแก้เพียงเล็กน้อยและขอแก้ก่อนมีการชี้สองสถาน ทั้งมิได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะจำเลยก็ยังคงมีข้อต่อสู้เช่นเมื่อก่อนแก้ เช่นนี้ศาลย่อมอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้
การที่ศาลต้องรอการพิจารณามานานโดยจำเลยขอให้รอฟังผลของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินและสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวกับสั่งว่าหากปรากฏผลประการใดก็ให้คู่ความแถลงให้ศาลทราบเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น มีผลเป็นคำสั่งให้รอคดีไว้ชั่วคราว หาใช่จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเสียทีเดียวไม่ต่อมาเมื่อโจทก์ร้องขอให้พิจารณาต่อไปศาลก็นัดพิจารณาใหม่ได้โดยมิต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวนั้นการพิจารณาของศาลต่อจากนั้นย่อมไม่เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2502

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในที่ดินที่เคยถูกไต่สวนออกโฉนดแล้วแต่ถูกทำลาย การจดทะเบียนโดยปลัดอำเภอแทน นายอำเภอชอบด้วยกฎหมาย
ที่พิพาทเป็นที่ทำประโยชน์แล้ว จนเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำใบไต่สวนและทำโฉนดแล้วพร้อมที่จะมอบให้เจ้าของที่เดิมซึ่งได้ร้องขอออกโฉนดไว้ หากแต่เจ้าของที่เดิมไม่ไปรับใบไต่สวนและโฉนดจนเกิน 10 ปี เจ้าพนักงานจึงได้สั่งทำลายเสีย ที่พิพาทจึงไม่มีใบไต่สวนและไม่มีโฉนด ครั้นที่พิพาทตกมาเป็นของจำเลยโดยเจ้าของเดิมที่ว่านั้นยกให้จำเลย จำเลยก็ได้ครอบครองทำประโยชน์มา จำเลยร้องขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิ ศาลก็สั่งแสดงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ที่พิพาทจึงเป็นที่ดินที่อยู่ในความหมายของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 6 คือเป็นที่ดินที่อยู่ในประเภทที่ดินซึ่งเจ้าของมีสิทธิขอรับโฉนดที่ดินตามบทแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เวลาจะโอนขายไม่ต้องให้นายอำเภอรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้ว การจดทะเบียนสิทธิและการทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทรายนี้ปลัดอำเภอเป็นผู้ทำแทนนายอำเภอ ย่อมเป็นการทำที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71(2)