พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242-7254/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การควบรวมกิจการและการโอนสิทธิลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: ลูกจ้างย่อมโอนไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่โดยอัตโนมัติ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 13 มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ต้องถูกออกจากงานหรือถูกลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้างตามกฎหมาย การที่ธนาคารจำเลยที่ 1จดทะเบียนควบรวมกิจการกับธนาคาร ซ. แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารจำเลยที่ 2 ซึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวมิใช่การเลิกกิจการของจำเลยที่ 1 เพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไปโดยผลของการควบรวมกิจการกับนิติบุคคลอื่นเท่านั้น และเป็นผลให้จำเลยที่ 2ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 และจำเลยที่ 2 ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรก ซึ่งผลของกฎหมายดังกล่าวลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะมิได้แสดงเจตจำนงออกมาอย่างชัดแจ้งว่า ประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ตาม เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้จึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปอันเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 118 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่า ไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทกฎหมายข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิลูกจ้าง-อายุงานต่อเนื่อง-เงินสงเคราะห์-การเลิกจ้าง-สิทธิลูกจ้าง
การที่จำเลยดำเนินกิจการจัดให้มีซึ่งเคหะเพื่อให้ประชาชนได้เช่าซื้อหรือซื้อเป็นของตนเอง ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจการดังกล่าวโดยมิใช่กิจการที่ให้เปล่า แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ก็จะถือว่าจำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจยังไม่ได้ การจ้างงานของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานพระราชบัญญัติ ญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 บัญญัติให้พนักงานรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันในวงการรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เมื่อจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าวโดยโจทก์มิได้กระทำความผิดจึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามความหมายในข้อ 46 ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46วรรคท้าย แก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ข้อ 7 กำหนด กรณีที่นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกจากสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการด้วย จำเลยเลิกจ้างโจทก์หลังจากประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ผลของการเลิกจ้างจึงต้องบังคับและเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ แต่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงลักษณะงานว่าเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการดังนั้น ปัญหาว่าการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาไว้แน่นอนหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย โจทก์มาทำงานกับจำเลยเพราะผลของการโอนกิจการ ทรัพย์สินสิทธิ หนี้ และความรับผิดของธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่จำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ข้อ 5 มิใช่โจทก์ลาออกจากหน่วยงานเดิมมาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยใหม่ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 ก็บัญญัติให้นายจ้างโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกได้เมื่อลูกจ้างยินยอมด้วยการโอนสิทธิการจ้างเช่นนี้ฐานะความเป็นลูกจ้างของลูกจ้างย่อมไม่สิ้นสุดลง ซึ่งต่างกับกรณีการเลิกจ้าง เมื่อไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น การนับอายุการทำงานของโจทก์จึงต้องนับต่อเนื่องกันไป การที่โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างประจำของธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่แล้ว เมื่อโอนมาเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินสงเคราะห์จากจำเลยตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 32 จึงต้องคำนวณโดยนำอายุการทำงานของโจทก์จากธนาคารอาคารสงเคราะห์มารวมกับอายุการทำงานกับจำเลย