คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนเงินผิดพลาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเงินผิดพลาดและอายุความลาภมิควรได้ จำเลยต้องคืนเงินที่รับเกินมาทั้งหมด
จำเลยเปิดบัญชีกับโจทก์สองบัญชี เป็นบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ที่สาขาย่อยสะพานปลาระนอง เมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2537 ลูกค้าของจำเลยนำเช็คธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนเงิน 1,000,000 บาท พร้อมเงินสด 59,518 บาท มาฝากเข้า บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยโดยวิธีโอนเงินจากสาขาระนอง มายังสาขาย่อยสะพานปลาระนอง สาขาระนอง ดำเนินการโอนเงินแล้วปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ว่าการสื่อสารปลายทางขัดข้อง ลูกค้าของโจทก์จึงนำเช็คพร้อมเงินสดจำนวนดังกล่าวกลับไป แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่สาขาย่อย สะพานปลาระนอง ในวันเดียวกัน ต่อมาโจทก์ตรวจสอบบัญชีของโจทก์พบว่าเกิดการผิดพลาดเพราะสาขาระนองสามารถโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้า บัญชีเงินฝากของจำเลยในวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ได้บัญชีของจำเลยจึงมีรายการซ้ำซ้อน ทำให้เงินในบัญชีของจำเลย เพิ่มขึ้น 1,059,518 บาท ดังนี้ เมื่อลูกค้าของจำเลยรับเช็ค และเงินสดคืนไปจากโจทก์สาขาระนองและนำมาเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองแล้ว สาขาระนอง ของโจทก์จึงไม่ต้องโอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขาย่อย สะพานปลาระนองอีก การที่เกิดการผิดพลาดโดยสาขาระนอง ของโจทก์โอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยที่สาขาย่อยสะพานปลาระนองอีกและจำเลยรับเงินจำนวนที่โอนมาไว้โดยที่จำเลยได้รับเงิน จำนวนเดียวกันจากลูกค้าของจำเลยแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยรับ เงินจากโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับเกินมา ทั้งหมดให้โจทก์ และอายุความเรื่องลาภมิควรได้ในกรณีเช่นนี้ ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีของโจทก์ตรวจพบ ในวันที่ 24 มีนาคม 2538 โจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีบัญชีเดินสะพัด: การโอนเงินผิดพลาดไม่ใช่ลาภมิควรได้ ศาลอุทธรณ์แก้ไขดอกเบี้ย
คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยรับเงินจากโจทก์โดยไม่มีมูลจะกล่าวอ้างได้ตามกฎหมายและถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับเงินไว้โดยสุจริตจำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันนำเงินเข้าบัญชีจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเรื่องบัญชีเดินสะพัดมิใช่เรื่องลาภมิควรได้ โจทก์ชอบที่จะเพิกถอนรายการที่ซ้ำออกจากบัญชีของจำเลยได้ ข้อที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องคืนเงินจึงฟังไม่ขึ้น แต่ศาลชั้นต้นคิดดอกเบี้ยให้ไม่ถูกต้องพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันหักทอนบัญชีดังนี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4569/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเงินผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ และสิทธิในการติดตามทรัพย์สินคืน
โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน โจทก์โดยสำนักงบประมาณได้โอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ถึงปี 2558 เป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่สำนักงานจังหวัดโดยตรง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล จากนั้นจังหวัดขอนแก่นเห็นชอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวทางและคู่มือการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ จึงมอบอำนาจให้นายอำเภอพระยืนเป็นผู้มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในการสั่งซื้อสั่งจ้างและดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุทุกขั้นตอนในวงเงินสั่งซื้อสั่งจ้างไม่เกิน 5,000,000 บาท โจทก์โดยนายอำเภอพระยืนในฐานะผู้รับมอบอำนาจได้ตกลงทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ให้ดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรลูกรังวงเงิน 439,000 บาท ตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 จำนวนเงินค่าจ้าง 439,000 บาท ให้แก่ ก. โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับโอนเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยคลาดเคลื่อนซึ่งเป็นการโอนเงินให้ผู้รับผิดคนและเป็นการผิดหลง ซึ่งจำเลยให้การและนำสืบรับว่าจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากโจทก์จริง เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินอันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินโดยผิดหลง โจทก์จึงมีหน้าที่และสิทธิติดตามนำเงินงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวคืนกลับมาเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิรับเงินงบประมาณแผ่นดิน แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเข้าใจว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจะต้องได้รับจากโจทก์ และได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วก่อนที่โจทก์จะทวงถามให้จำเลยคืนก็ตาม จำเลยก็ต้องส่งเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคืนให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของงบประมาณที่มีสิทธิติดตามเอาคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานะลาภมิควรได้