คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ใช้บังคับย้อนหลัง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมโดยมติที่ประชุม และผลกระทบต่อการแต่งตั้งเจ้าอาวาส การใช้บังคับย้อนหลัง
โจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2506) ข้อ 6 และข้อ 22 และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแหลมโดยชอบตามมาตรา 23 ต่อมาได้มีมติของที่ประชุมมหาเถรสมาคมตีความในข้อ 23 กำหนดคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 6 และข้อ 22 โดยข้อความตามข้อ 23 ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาจะต้องตีความ การตีความดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มหาเถรสมาคมแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมโดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส อันเป็นการตรากฎมหาเถรสมาคมเพิ่มเติม ต้องประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ก่อนจึงจะใช้บังคับได้ เมื่อปรากฏว่าเพิ่งจะลงประกาศภายหลังจากที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสโดยชอบแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ได้เพราะจะเป็นการใช้บังคับย้อนหลัง ดังนั้นการที่จำเลยมีคำสั่งว่าการแต่งตั้งโจทก์เป็นเจ้าอาวาสเป็นโมฆะเพราะขาดคุณสมบัติตามมติตีความของที่ประชุมมหาเถรสมาคมดังกล่าวจึงเป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659-3661/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินฟอกเงิน: ไม่ใช่โทษอาญา แม้ความผิดมูลฐานบัญญัติเพิ่มภายหลังก็ใช้บังคับย้อนหลังได้
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมายไว้ 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงมิใช่โทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 (5)
แม้ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) จะบัญญัติเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้กระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และเมื่อมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น