คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ใบรับขน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5136/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญารับขนทางอากาศ: ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ระบุในใบรับขน หากผู้ส่งไม่ได้ระบุมูลค่าสินค้า
สัญญารับขนของทางอากาศซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขของสัญญารับขนของทางอากาศปรากฏเป็นข้อความภาษาอังกฤษทั้งด้านหน้าและด้านหลังใบรับขนทางอากาศโดยด้านหน้ามีข้อความพิมพ์ไว้ชัดแจ้งว่า คู่สัญญาให้ถือเอาข้อตกลงและเงื่อนไขในการขนส่งตามที่ระบุไว้ในแผ่นหน้าและแผ่นหลังของใบรับขนทางอากาศนี้เป็นข้อสัญญารับขนของทางอากาศ ทั้งมีข้อความให้ผู้ส่งสินค้ารับทราบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วย ผู้ส่งสินค้าอาจเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดได้ โดยแจ้งมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นและชำระเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น และแผ่นหลังของใบรับขนทางอากาศดังกล่าวได้ระบุข้อตกลงในกรณีที่ผู้ส่งสินค้าไม่ได้ระบุมูลค่าของสินค้าไว้ว่า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อสินค้าหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งบริษัท อ. ได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะตัวแทนของผู้ขายสินค้าหรือผู้ส่งสินค้าด้วย ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมรับฟังได้ว่า ตามสัญญารับขนสินค้าน้ำหอมทางอากาศในคดีนี้ ผู้ส่งสินค้าได้ตกลงโดยชัดแจ้งในเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งแล้ว ข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงใช้บังคับแก่คู่สัญญาขนส่งของทางอากาศในคดีนี้ได้ เมื่อปรากฏตามใบรับขนส่งทางอากาศว่าผู้ส่งสินค้าไม่ได้แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่ขนส่งที่ตนเองรับขนส่งจึงถูกจำกัดไว้จำนวนเพียง 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้าที่ได้รับความเสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10156/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าในสัญญาประกันภัยและการจำกัดความรับผิดตามใบรับขน
แม้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสาขาในประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ขั้นตอนในการดำเนินการขนส่งจะต้องอาศัย Agent หรือผู้รับขนส่งที่ประเทศต้นทาง ตามใบวางบิลของจำเลยที่ 2 มีการหักส่วนของกำไรที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกด้วย จำเลยที่ 1 มีกำไรจากค่าขนส่งส่วนหนึ่ง ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า และค่าเงินที่ผันผวน เมื่อตรวจดูการโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพนักงานฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ขายระวางกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นค่าระวาง (Air Freight) ด้วย เมื่อ ม. ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทตามภาระที่เกิดจากเงื่อนไขการส่งมอบแบบ FCA และต่อมาเมื่อการขนส่งเสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนส่วนหนึ่งจากค่าระวางทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจาก ม. แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเอง กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาขนส่งกับ ม. ผู้ส่งที่แท้จริงตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 608 และ 610 แล้ว หากสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามมาตรา 616 และเมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ต้องรับผิดด้วยหากว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 617 และ 618
จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทแต่จำเลยที่ 2 มอบหมายต่อไปให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำเลยที่ 3 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นในการขนส่งที่มีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความหมายในมาตรา 617 และ 618 แม้ใบรับขนของทางอากาศจะไม่มีชื่อของ ม. ปรากฏอยู่ แต่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทที่แท้จริง และถ้าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมมีความรับผิดต่อ ม. ผู้ซื้อในเงื่อนไขส่งมอบแบบ FCA นอกจากนั้นตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของ แม้จะระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็ระบุในช่อง Nature and Quantity of Goods ว่า CONSOLIDATED CARGO AS PER ATTACHED MANIFEST โดยมี Cargo Manifest แนบอยู่ในช่อง House Airway Bill/Consignee ระบุชื่อ ม. เป็นผู้รับตราส่งไว้ด้วย เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งย่อมรู้และเข้าใจอยู่แล้วว่าผู้รับสินค้าพิพาทที่ปลายทางที่แท้จริงคือ ม. ผู้รับตราส่งที่แท้จริงตามมาตรา 627 เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้
ตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 3 ออกด้านหน้ามีช่องระบุข้อความให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้ส่งสามารถกำหนดเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้มากกว่าที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดไว้ ด้วยการชำระค่าระวางขนส่งเพิ่มเติมแก่ผู้ขนส่ง และที่ด้านหลังมีข้อความพิมพ์ไว้ ซึ่งมี Notice Concerning Carrier's Limitation of Liability กำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ที่ 19 SDR ต่อน้ำหนักสินค้าที่เสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม เมื่อด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศไม่ปรากฏว่ามีการระบุมูลค่าของสินค้าพิพาทไว้ในช่อง Value for Carriage ดังนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมจำกัดความรับผิดไว้ได้ตามที่ปรากฏหลังใบรับขนของทางอากาศ
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการดูแลของจำเลยทั้งสาม และโจทก์จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศ: การตกลงของผู้ส่งและผลผูกพันตามใบรับขน
เมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า ช่องที่ 9 มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ข้อความตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลังและช่องที่ 3 มีข้อความว่า สินค้าจำนวน 1 กล่อง น้ำหนักรวม 1 กิโลกรัม ช่องให้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งจะต้องใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากร มีข้อความว่า "โปรดดูใบกำกับสินค้า" ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ระบุตัวเลข 100 โดยไม่แสดงหน่วยเงินแต่อย่างใด พฤติการณ์ที่ผู้ส่งระบุเพียงตัวเลข 100 น่าเชื่อว่า ผู้ส่งทราบดีว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้ผู้ส่งสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าในหีบห่อไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐและจะจำกัดความรับผิดไว้ในกรณีนี้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 ครั้ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่าการที่ผู้ส่งกรอกข้อความเช่นนั้น จึงน่าจะเป็นการกรอกรายละเอียดเพื่อให้ผู้ขนส่งคิดค่าระวางขนส่งตามน้ำหนักของสินค้า เพราะหากแจ้งราคามูลค่าสินค้าที่แท้จริงจะต้องเสียค่าธรรมเสียมการขนส่งเพิ่ม และถึงแม้จะเป็นกรณีส่งสินค้าที่มีราคาสูง ผู้ขนส่งก็อนุญาตให้สำแดงราคาไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ และจำกัดความรับผิดไม่เกินมูลค่าที่สำแดง ผู้ส่งน่าจะทราบเงื่อนไขดังกล่าวจึงได้เอาประกันเพื่อความเสี่ยงภัยสูญหาย เสียหายของสินค้าไว้กับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้า จึงเชื่อว่าบริษัท ซ. ผู้ส่งสินค้ารู้และตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองตามที่ระบุไว้ในด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ดังนั้น ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ส่งสินค้า