คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ให้ทรัพย์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ทรัพย์สินพร้อมสิทธิเก็บกิน ไม่ถือเป็นการเนรคุณ แม้ถูกรบกวนสิทธิเก็บกิน สามารถใช้สิทธิทางศาลได้
โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์ยังคงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินที่ยกให้ ถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยโดยมีค่าภารติดพันโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้และหากถูกจำเลยรบกวนสิทธิเก็บกิน โจทก์ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับจำเลยไม่ให้ขัดขวางการใช้สิทธิเก็บเงินของโจทก์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอนคืนการให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียง: การพิจารณาขั้นตระเตรียม vs. พยายามกระทำความผิด
ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522มาตรา 35 ที่บัญญัติว่า เมื่อได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใดจนถึงวันเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใดด้วยวิธีการดังนี้ (1)จัดทำ ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด..." จะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าในเขตเลือกตั้งใด กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดที่มิใช่ผู้สมัครกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด ดังนั้น ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวด้วยการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ว่าด้วยการจัดทำ ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด ย่อมเป็นการกระทำความผิดสำเร็จ
ขณะที่จำเลยทั้งสองถูกจับและเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางทั้งหมดได้ จำเลยทั้งสองได้จัดทำธนบัตรของกลางทั้ง 11,400,000 บาท ไว้พร้อมที่จะนำไปแจกจ่ายหรือให้แก่ผู้เลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อในเขตอำเภอ ซึ่งอยู่ในเขตเลือกตั้งแล้ว ด้วยการนำธนบัตรชนิดราคา 100 บาท กับชนิดราคา 20บาท ที่มีตรายางรูปยันต์ประทับตรงบริเวณลายน้ำพระบรมฉายาลักษณ์มาเย็บติดกันเป็นชุด ชุดละ 120 บาท และมัดรวมกัน มัดละ 100 ชุด ใส่ถุงพลาสติกบรรจุในกล่องกระดาษและถุงทะเลไว้พร้อม ดังนั้น โดยลักษณะของการกระทำดังกล่าวถือว่าจำเลยทั้งสองจัดทำธนบัตรของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินเพื่อจะจูงใจให้บรรดาผู้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นแล้วแม้จำเลยทั้งสองจะยังไม่ได้แจกจ่ายหรือให้ธนบัตรนั้นแก่บรรดาผู้เลือกตั้งทั้งหลายจำเลยทั้งสองก็กระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2522 มาตรา 35 (1) สำเร็จแล้ว
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเอาผิดแก่การจัดทำธนบัตรของกลางของจำเลยทั้งสองซึ่งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จมาด้วย โจทก์คงบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาพยายามให้ทรัพย์สินแก่ผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้ง เพื่อจะจูงใจให้บรรดาผู้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นสถานเดียวเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเพียงการพยายามให้ทรัพย์สินแก่ผู้เลือกตั้งสถานเดียว ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงขั้นตระเตรียมการให้ทรัพย์สินแก่ผู้เลือกตั้งอันไม่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2522 มาตรา 35 (1) ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาหรือไม่
ขณะที่จำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับพร้อมของกลางคงเหลือเวลาอีกเพียง 3 วัน ก็จะถึงกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับว่าเป็นระยะเวลาที่ใกล้ชิดกับวันเลือกตั้งมากแล้ว ประกอบกับลักษณะธนบัตรของกลางที่จำเลยทั้งสองจัดทำขึ้นเป็นชุดพร้อมที่จะนำไปแจกจ่ายหรือให้แก่บรรดาผู้เลือกตั้งดังกล่าวได้ตามบัญชีรายชื่อหัวคะแนนแต่ละหมู่บ้าน บัญชีรายชื่อแกนนำ บัญชีรายชื่อผู้รับผิดชอบแต่ละตำบลในอำเภอ บัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง(ส.ส.13) ของอำเภอ ตารางแสดงจำนวนหมู่บ้าน ตลอดจนข้อมูลหน่วยเลือกตั้งตำบลต่าง ๆ ในอำเภอในเขตเลือกตั้งนั้นที่จำเลยทั้งสองรวบรวมไว้แล้ว ซึ่งแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะให้ทรัพย์สินเพื่อจะจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งจะให้แก่ผู้สมัคร และจำเลยทั้งสองก็ได้เตรียมจัดหาทรัพย์สิน คือธนบัตรชนิดราคา100 บาท และชนิดราคา 20 บาท รวมทั้งของกลางต่าง ๆ ดังกล่าว แล้วจำเลยทั้งสองได้ลงมือดำเนินการตามเจตนาข้างต้นโดยนำธนบัตรมาเย็บติดกันเป็นชุดมัดรวมกัน มัดละ 100 ชุด บรรจุในกล่องกระดาษและถุงทะเลเสร็จพร้อมที่จะนำไปให้แก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้ทันที การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ล่วงไปถึงขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการนำธนบัตรของกลางไปแจกจ่ายหรือให้แก่บรรดาผู้เลือกตั้งเพื่อจะจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครที่จำเลยทั้งสองให้การสนับสนุน เป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองพ้นขั้นตระเตรียมการเข้าสู่การลงมือกระทำความผิดแล้ว หากแต่ไม่สำเร็จเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้เสียก่อนมิฉะนั้นแล้วจำเลยทั้งสองก็จะกระทำความผิดต่อไปได้สำเร็จ จำเลยทั้งสองย่อมมีความผิดฐานพยายามให้ทรัพย์สินแก่ผู้เลือกตั้งเพื่อจะจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครดังที่โจทก์ฟ้องแล้ว และธนบัตรของกลางกับของกลางอื่นถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ริบได้ ตาม ป.อ.มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา vs. หน้าที่ธรรมจรรยา, การหมิ่นประมาท, และการเพิกถอนการให้
โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรเพื่อ นำไปทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรโดยเสน่หามิใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 535(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามธรรมจรรยาที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ทั้งในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยก็ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสือสัญญาให้ที่ดินว่าเป็นการให้ไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับให้เป็นบุตร จำเลยผู้รับให้จะอ้างว่าที่ระบุการให้เช่นนั้น เป็นแต่เพียงกระทำขึ้นตามระเบียบปฎิบัติของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยมิได้กระทำตามเจตนาแห่งการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหาได้ไม่จึงต้องฟังว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นการให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา จำเลยด่าโจทก์ผู้ให้ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า"ไอ้เปรต"ไอ้เฒ่าบ้าแก่จะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติแถมบ้าเมียไม่สมแก่ไอ้หัวล้าน"และด้วยถ้อยคำว่า"ไอ้เปรตไอ้เฒ่าไอ้หัวดอ ตายกับหีอีคลี่" ต่อหน้าบุคคลอื่น การที่จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นผู้ได้ยินฟังย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติบ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์ย่อมจะเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) แม้สารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน จะระบุว่า อ.ขายให้แก่จำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ชำระราคาที่ดิน โดยให้จำเลยบุตรของโจทก์ของโจทก์เป็นผู้รับโอนในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากโจทก์ประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงเหตุแห่งความจริงเกี่ยวกับเจตนาของโจทก์ผู้ให้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการยกให้ การจดทะเบียนก็ยังคงเป็นการจดทะเบียนขายที่ดินของ อ. ให้โจทก์ เพียงแต่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ประสงค์จะยกที่ดินนั้นให้เท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จำเลยสาบานตนให้การเป็นพยาน ปัญหาว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาท ร.มารดาจำเลยเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนที่ดินส่วนของนางรุ่นชอบหรือไม่นั้น เมื่อประเด็นดังกล่าวจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ทรัพย์สินโดยเสน่หาและการประพฤติเนรคุณ การสมรสกับผู้อื่นไม่ถือเป็นการประพฤติเนรคุณ
การที่จำเลยไปสมรสกับหญิงอื่นไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีแต่อย่างใดทั้งไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรงถึงขนาดจะถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา531(2)ได้การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการประพฤติเนรคุณโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 87/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ทรัพย์สินมีเงื่อนไขและเหตุถอนคืนการให้จากพฤติกรรมเนรคุณ
การที่โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นบุตรโดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องส่งข้าวเปลือกให้โจทก์ปีละ 10 ถังนั้น ยังถือไม่ได้ว่า เป็นการให้ทรัพย์สินโดยมีค่าภารติดพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 528 แต่เป็นการยกให้โดยเสน่หา เพราะค่าภารติดพันในที่ดินหรือทรัพย์สินต้องเป็นภารติดพันเกี่ยวกับตัวที่ดินหรือทรัพย์สินนั้นเองโดยตรงไม่ใช่ภารติดพันนอกตัวทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์เพียงคนเดียวมีที่ดิน 3 ไร่เศษ ได้ข้าวปีละกว่า 100 ถัง ย่อมมีฐานะไม่ถึงกับเป็นผู้ยากไร้ ตรงข้ามกับจำเลยซึ่งมีบุตรถึง 10 คนมีที่ดินที่พิพาทแปลงเดียวเนื้อที่เพียงประมาณ 5 ไร่ ได้ข้าวปีละ 140-150 ถัง และไม่มีรายได้อื่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ยากไร้ จำเลยย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะจุนเจือผู้อื่นได้อีก และไม่ปรากฏว่าจำเลยด่าโจทก์หรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง กรณีจึงไม่อาจถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประพฤติเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)(3).(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2501 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารให้ทรัพย์สินไม่มีผลเป็นพินัยกรรม หากไม่ได้กำหนดการเผื่อตายและจดทะเบียน
แม้ในหนังสือที่จำเลยอ้างจะมีข้อความว่าเป็นใบแทนพินัยกรรมก็ดี แต่ข้อความที่บรรยายไว้ ผู้ทำหาได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินเพื่อให้มีผลบังคับเมื่อตนตายอย่างไรไม่ ฉะนั้นจึงไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 คงมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หาเท่านั้น เมื่อไม่ได้จดทะเบียนจึงไม่สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2493 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำมั่นสัญญาให้ทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 526 ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนเพื่อให้มีผลผูกพัน
คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินตาม ป.พ.พ.ม. 526 นั้นจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วจึงจะใช้ได้
เจ้าของที่ดินได้ยื่นคำร้องยกที่ดินให้ผู้รับต่อกรมการอำเภอ ๆ ทำการังวัดประกาศโฆษณาแล้วแต่ยังไม่ได้ทำนิติกรรม เนื่องจากเจ้าของที่ดินเป็นคนต่างด้าวต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยเสียก่อนดังนี้ จะถือว่าเป็นคำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินอันสมบูรณ์ตามมาตรา 526 ยังไม่ได้เพราะทางอำเภอยังไม่ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2480

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจในการเลือกตั้งของผู้ใหญ่บ้านและผู้มีอิทธิพล ทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้ทรัพย์++และให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิเลือตั้งซึ่งมีฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้าน+++เป็นนักเลงบ้างถึงแม้ว่าในหน่วยนั้น ๆ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะได้คะแนน+++ว่าผู้อื่นก็ตามก็ถือได้ว่าการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นการไม่ชอบสมควรให้มีการเลือกตั้งใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งท้องถิ่น: ความผิดฐานให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจลงคะแนน และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปี ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ขอให้ลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 โดยให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาและศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามานั้น มิใช่กรณีเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น และมิใช่กรณีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 และถือไม่ได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ได้อีก
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใช้บังคับโดยยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม ยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ที่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนของบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 2 ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิมบัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 118 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 126 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษจำคุกและโทษปรับซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกและโทษปรับตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง อันเป็นส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาตามกฎหมายใหม่มีกำหนดเวลานานกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ต้องใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 118 มาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 3