คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่ขาดอายุความ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2517 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการกู้ยืม: การรับสภาพหนี้ในคำให้การของจำเลยทำให้โจทก์ไม่ต้องสืบพยาน และคดีไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2505 และ 18 กรกฎาคม 2505จำเลยได้ยืมเงินโจทก์ไป ได้ทำสัญญากู้ไว้โดยไม่ได้ระบุเวลาชำระเงินแต่จำเลยสัญญาว่าจะชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ภายใน 3 ปีครบกำหนดในพ.ศ. 2508 จำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยให้การรับว่าได้ยืมเงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง แต่ได้หักหนี้กันไปแล้ว และคดีขาดอายุความ เรื่องกำหนดเวลาใช้เงิน 3 ปีก็ดี เรื่องหนี้ถึงกำหนดชำระในพ.ศ. 2508 ก็ดี จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธไว้ ดังนี้ ต้องถือว่าจำเลยรับตามฟ้อง และโจทก์ไม่จำต้องสืบพยานในข้อนี้เพราะฟังได้แล้วว่าครบกำหนดชำระหนี้เมื่อพ.ศ. 2508 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม2515 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1546/2505

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดก: การฟ้องเรียกทรัพย์มรดกที่ถูกปิดบังไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการมรดก จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องพี่ชายต่างมารดาซึ่งร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาโจทก์ว่าปิดบังทรัพย์มรดกบางรายการ โจทก์เคยบอกให้นำมาแบ่งก็เพิกเฉย ขอให้บังคับให้ชำระเงินส่วนแบ่งของโจทก์ จำเลยให้การว่า การจัดการแบ่งมรดกรายนี้มารดาโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยและนางสาวพรรณีได้ทำสัญญาแบ่งมรดกให้ทายาททุกคนได้รับเรียบร้อยไปแล้วจนบัดนี้เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องร้องได้แล้ว ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า จำเลยอ้างอายุความที่เกี่ยวแก่การจัดการมรดกซึ่งห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกมรดกที่จำเลยปิดบังไว้ ไม่เกี่ยวกับการจัดการมรดก ทั้งปรากฏว่าเมื่อปี พ.ศ.2499(นับถึงวันฟ้องไม่เกิน5 ปี) ก็ยังมีการแบ่งมรดกกันอีก คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1733 และคดีนี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีความประสงค์ยกอายุความซึ่งเกี่ยวด้วยการจัดการมรดกขึ้นต่อสู้โดยตรงแต่อย่างเดียว มิได้ยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าขาดอายุความตามมาตรา 1754 หรือไม่ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แม้ไม่ได้อ้างบทมาตรามาด้วย ก็เป็นหน้าที่ศาลที่จะวินิจฉัยว่าจะยกกฎหมายใดมาปรับคดีและมีอายุความเท่าใดนั้น หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการเช่าและการชำระหนี้บางส่วนทำให้หนี้ส่วนที่เหลือไม่ขาดอายุความ
การนับอายุความนั้นต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนและจำเลยต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลา 30 วันแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือให้จำเลยส่งมอบเครื่องจักรคืนโจทก์ก่อน อายุความเรียกค่าเช่าค้างชำระ 2 ปี จึงเริ่มนับแต่วันที่จำเลยได้รับใบแจ้งหนี้ในแต่ละฉบับ
เมื่อนับจากวันที่พ้นกำหนดชำระหนี้ในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 มีเพียงหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 เพียง 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2545 และวันที่ 18 ตุลาคม 2545 เท่านั้นที่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ ซึ่งถึงกำหนดชำระภายในระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 เกิน 2 ปีแล้ว แต่จำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนรวม 3 ครั้ง โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ซึ่งจำเลยย่อมทราบแล้วว่าจำเลยมีหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระตามใบแจ้งหนี้ เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ เพราะวันที่ถึงกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ อยู่ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2545ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย การที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวนและนำเงินมาผ่อนชำระหนี้โดยไม่ระบุว่าชำระหนี้รายใด ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ทั้งหมดแล้ว อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงทั้งหมดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ยังไม่เกิน 2 ปี หนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.14 รวม 8 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ หนี้ของโจทก์ทั้งหมดตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 รวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความด้วย ส่วนวิธีการชำระหนี้กรณีที่จำเลยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ฉบับใด จึงต้องนำไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้กับกรมสรรพากรอันจะมีสิทธิและหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉล ไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้
จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้