พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไปหลังถูกแจ้งหนี้ค่าละเมิดจากการใช้ไฟฟ้า ไม่ถือเป็นการข่มขู่ ทำให้โมฆียะ
โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการโรงแรมได้ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิด แต่เมื่อมีกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าของโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งมีข้อความว่า "หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการซื้อขายไฟฟ้าข้อหนึ่งข้อใด ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายงดจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อได้ทันที โดยผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ซื้อและผู้ขายตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วยความสุจริตและจะไม่กระทำการใด ๆ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้า การละเมิดการใช้ไฟฟ้า หมายถึง การทำลายหรือดัดแปลงแก้ไขมาตรวัดไฟฟ้าและหรืออุปกรณ์ประกอบใด ๆ ... ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อน..." นอกจากนี้ในกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้า ตามสัญญายังระบุว่า "กรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าทางด้านกิโลวัตต์ และหรือกิโลวัตต์ชั่วโมง ผู้ซื้อต้องชดใช้ค่าละเมิดการใช้ไฟฟ้า..." ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่ฝ่ายจำเลยตามฟ้อง หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติ หาใช่เป็นการข่มขู่ อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นโมฆียะดังที่โจทก์อ้างไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2968/2516
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมสมบูรณ์ แม้มีขู่ว่าจะฟ้องอาญา หากไม่คืนเงิน ไม่ถือเป็นการข่มขู่หลอกลวง
โจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยชำระเงินกับออกเช็คสั่งจ่ายเงินชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีที่ดินที่จะขายให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกงแล้วโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้ต่อกัน ในการทำสัญญาดังกล่าวแม้จะฟังตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยทั้งสองลงชื่อไปเพราะโจทก์พูดว่า 'ต้องคืนเงิน (ที่จำเลยรับไป)ถ้าไม่คืนจะเอาเข้าตะราง' ก็ดี หรือทนายโจทก์พูดว่า 'ขอให้คืนมัดจำและเช็คให้เสีย ถ้าไม่คืนเงินจะให้เอาเข้าตะราง' ก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์ขู่ว่า ถ้าจำเลยไม่คืนเงินและเช็คที่รับไปแล้ว โจทก์จะฟ้องเอาผิดกับจำเลยทางอาญาฐานฉ้อโกง อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตเพราะตนมีสิทธิในมูลกรณีนั้น ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมหาจัดว่าเป็นการข่มขู่ไม่ และไม่ใช่เรื่องหลอกลวงสัญญาประนีประนอมยอมความจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำไม่เข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ เพราะเป็นการแจ้งโทษตามกฎหมายและเสนอความช่วยเหลือทางคดี ไม่มีการข่มขู่ทำอันตราย
การที่จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ก. ผู้เสียหายกระทำความผิดที่มีอัตราโทษหนักต้องจำคุกหลายปีและมีโทษปรับเป็นเงินหลายแสนบาท จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไม่ต้องรับโทษหนักและจะดำเนินคดีผู้เสียหายในความผิดที่มีอัตราโทษน้อย แต่ผู้เสียหายต้องชำระเงินให้แก่จำเลย 20,000 บาท มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานจับกุมดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายอยู่แล้วในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย จำเลยเพียงแต่บอกให้ผู้เสียหายทราบถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับตามกฎหมาย และการเรียกเงินของจำเลยก็เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีมิให้ผู้เสียหายได้รับโทษหนัก ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายต่อไปว่า จำเลยจะมาตรวจสอบที่ร้านค้าของผู้เสียหายทุกเดือนและหากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีกับผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายชำระเงินให้แก่จำเลยทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท จำเลยจะไม่มาตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหาย ก็มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายเช่นกัน เพราะผู้เสียหายจะถูกดำเนินคดีตามที่จำเลยอ้างก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดจริง การเรียกเงินของจำเลยเป็นเพียงเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยมิได้ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายแม้ไม่พบการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการขู่เข็ญ คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย