คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่มีสิทธิครอบครอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7112/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่มีสิทธิครอบครอง แม้ครอบครองก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตป่า ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 239 (พ.ศ. 2510) ออกตามความใน พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยที่ดินพิพาทได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้ แม้ว่าโจทก์หรือบิดาโจทก์ได้ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับที่ 239 ดังกล่าว จะได้ประกาศให้ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เมื่อได้มีกฎกระทรวงประกาศกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้วดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ โจทก์หรือบิดาโจทก์จึงหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ และแม้โจทก์หรือบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ แต่การได้รับอนุญาตดังกล่าวก็มีผลให้โจทก์หรือบิดาโจทก์เท่านั้นที่มีสิทธิดังกล่าวในที่ดินพิพาทและโจทก์หรือบิดาโจทก์ก็ไม่อาจนำไปให้บุคคลอื่นเช่าได้ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวไปให้จำเลยเช่าได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสัญญาเช่า จำเลยได้ให้การไว้ชัดแจ้งว่า ที่ดินพิพาทเป็น ที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและการครอบครองของจำเลยมิได้อาศัยสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานและกำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีย่อมมีประเด็นให้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉล ไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้
จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ-ป่าสงวนฯ โจทก์-จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง ศาลยกฟ้อง
ที่ดินพิพาทแปลงที่สามที่โจทก์และจำเลยกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามมาก่อนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ และตามมาตรา 36 ทวิ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่มีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อ ค. กับจำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทเช่นกัน และเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองได้ความว่ามีหลักฐานเป็นเพียงใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน โดยตามสำเนาใบ ภ.บ.ท. 5 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2525 แสดงถึงการเข้าทำประโยชน์ช่วงระยะเวลาหลังจาก ป.ที่ดิน ใช้บังคับแล้ว ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 โจทก์กับ พ. และจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 9 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 108 หรือ 108 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน แล้วแต่กรณี ทั้งที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองยังเป็นป่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง มาตรา 72 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และมาตรา 14 มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ด้วย เมื่อการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)