คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่สำแดง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพ.ร.บ.ศุลกากร: การนำเงินตราออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่สำแดง และการริบของกลาง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยนำธนบัตรเงินตราไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,000,000 บาท อันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่มีการสำแดงแจ้งรายการนำเงินตราที่กฎหมายกำหนดออกนอกราชอาณาจักรต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในขณะผ่านด่านศุลกากรตามแบบที่เจ้าหน้าที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดหรือข้อห้าม ตามข้อห้ามอันเกี่ยวกับการนำของออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตรวจพบและทำการจับกุมจำเลยเสียก่อน จึงไม่อาจนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรสมดังเจตนาของจำเลย และอ้าง พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ธนบัตรเงินตราไทยเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นการบรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัด ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของกฎหมายฉบับใดหรือเป็นสิ่งของชนิดใด หรือไม่ได้แนบประกาศหรือระเบียบมาท้ายฟ้องนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
แม้จำเลยจะไม่สามารถนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือเป็นความผิดและศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งริบของนั้นก็ได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ไม่สำแดงรายการต่อเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายและลักลอบนำเงินตราซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นพฤติการณ์ที่สมควรริบธนบัตรของกลาง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ธนบัตรของกลางไม่ใช่ของจำเลย จึงไม่สมควรริบนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของแท้จริงจะต้องร้องขอคืนของกลางต่อศาลไม่เกี่ยวกับจำเลย
ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข แต่ไม่สามารถแก้ได้เพราะเป็นบทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของค่าปรับนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว