คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่เป็นทางค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3592/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ไม่ถือเป็นการค้าหรือหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) บัญญัติความหมายของคำว่า "ขาย" ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อหรือจำหน่าย จ่าย โอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ตามบทนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่าแม้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงเทศบาล สายรามคำแหงตอนสะพานข้ามคลองลาดบัวขาว - บรรจบถนนสุวินทวงศ์ พ.ศ.2537 และการที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่กรุงเทพมหานครเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็ตาม ก็ยังเป็นการโอนจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4)
โจทก์จำเป็นต้องมีที่ดินไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นศูนย์บริการลูกค้า ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับโจทก์ต้องโอนทรัพย์เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3590/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินโดยถูกเวนคืน ไม่เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4) ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะโอนที่ดินให้แก่กรมทางหลวงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็ถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4)
แม้ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/2 ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) ฯ มาตรา 4 (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่นิติบุคคลผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่เมื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ขาย โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นโรงงานผลิตสินค้าจำหน่าย ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย และการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ออกมากำหนดให้ที่ดินของโจทก์ในส่วนที่โอนอยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ หากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน การที่โจทก์ยอมตกลงโอนทรัพย์ให้แก่กรมทางหลวงจึงเกิดจากสภาพบังคับไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ ดังนั้น จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากรฯ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าในส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและเงินค่าทดแทนสำหรับต้นไม้นั้น เป็นเงินชดเชยความเสียหายและการขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินอีกต่อไป ไม่ใช่ค่าโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีจากรายรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวนี้เป็นการไม่ชอบ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่ชอบด้วย ส่วนจำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้วศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวด้วย การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้เป็นการประเมินที่ไม่ชอบ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้ก็ไม่ชอบ จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นที่กำหนดไว้ หาได้นอกฟ้องนอกประเด็นตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3590/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินถูกเวนคืน ไม่เป็นรายได้ทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์จำเป็นต้องมีที่ดินไว้ใช้เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตสินค้าจำหน่ายไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับโจทก์ต้องโอนที่ดินแก่กรมทางหลวงเนื่องจากอยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนั้น การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินนั้นแก่กรมทางหลวงจึงเกิดจากสภาพบังคับดังกล่าว ไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและเงินค่าทดแทนสำหรับต้นไม้นั้น เป็นเงินชดเชยความเสียหายและการขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินอีกต่อไป ไม่ใช่ค่าโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ การประเมินให้โจทก์เสียภาษีจากรายรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวเป็นการไม่ชอบและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่ชอบด้วย จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ด้วย การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้เป็นการประเมินที่ไม่ชอบและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้ก็ไม่ชอบ จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นที่กำหนดไว้มิได้นอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10889/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ให้บุตรโดยเสน่หา ไม่ถือเป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
พระราชกฤษฎีกามิใช่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นเพียงกฎหมายที่ออกโดยองค์กรฝ่ายบริหารซึ่งอาศัยอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท ดังนั้น บทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาจึงไม่ใช่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และ 264 วรรคหนึ่ง ศาลจึงไม่ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามที่คู่ความร้องขอ
มาตรา 91/2 (6) แห่ง ป. รัษฎากร มิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ได้ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ให้ถือว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการขายในทางค้าหรือหากำไร ตามที่มาตรา 91/2 (6) ให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 91/2 (6)
พระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (6) ซึ่งออกตามความในมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่? แสดงว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มามิได้เป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี การที่โจทก์ได้ที่ดินมาแล้วโอนที่ดินดังกล่าวให้โดยเสน่หาแก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนไปภายในวันเดียวกัน แม้จะถือว่าเป็นการขายตาม ป. รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อผู้ที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีที่ทำเป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น แต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืน ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าว จนถึงวันที่อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย มีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ข้อ 1 (2) และข้อ 1 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 และฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่ต้องคืนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิรับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไป จนถึงวันที่อธิบดีกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนค่าภาษีที่ได้รับคืน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี ไม่ถือเป็นทางค้าหรือหากำไร หากเป็นที่อยู่อาศัยของสามีภริยาที่อยู่กินกันมา
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา มิใช่ว่าจะเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 จึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี การที่โจทก์และ ส. ได้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องมาแล้วขายให้แก่บุคคลอื่นไป แม้จะถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และ ส. สมรสกันและอยู่กินกันฉันท์สามีภริยามาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2535 โจทก์และ ส. ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์และจดจำนองไว้กับธนาคาร ระหว่างนั้นโจทก์และ ส. มีบุตรด้วยกัน 3 คน โดยทั้งหมดอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2536 ส. ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ จากนั้นโจทก์และ ส. จดทะเบียนสมรสกัน และเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540 โจทก์และ ส. ขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไป การขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์และ ส. ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ และผู้ขายเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย อยู่กินด้วยกันมาตลอดโดยฝ่ายหนึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไรจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขายที่ดินเกษตรกรรมภายใน 5 ปี ไม่ถือเป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายใช้ในการเกษตรกรรม แม้ได้กระทำภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบมาตรา 3 (6) แห่ง พ.ร.ก.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534