คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่เป็นธรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 476 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: การกระทำที่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงและการจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นวิศวกรฝ่ายผลิตไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเอกสารบัญชีการเงิน การที่โจทก์ได้ให้ ส. ลูกจ้างของจำเลยไปเอาบัญชีค่าจ้างมาถ่ายสำเนา เสร็จแล้วก็ได้นำกลับไปคืนที่เดิม แสดงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะเอาบัญชีค่าจ้างนั้นไปเป็นของตน จึงยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลย ส่วนที่โจทก์ถ่ายสำเนาโดยใช้กระดาษและเครื่องถ่ายเอกสารของจำเลย ก็ปรากฏว่าลูกจ้างคนอื่นที่เคยใช้เครื่องถ่ายเอกสารของจำเลยถ่ายเอกสารส่วนตัวเพียงแต่ถูกจำเลยตักเตือนด้วยวาจาเท่านั้น แสดงว่าจำเลยมิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรง การกระทำของโจทก์เป็นการถือวิสาสะมากกว่า ไม่มีเจตนาทุจริต ส่วนระเบียบข้อบังคับหมวด 6 ของจำเลยเรื่องความลับเกี่ยวกับข้อมูลบัญชีอัตราค่าจ้างของลูกจ้างมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอกซึ่งอาจทำให้คู่แข่งทราบถึงรายได้ของพนักงานแล้วเกิดการดึงตัวพนักงานที่มีความรู้ความสามารถไป โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำบัญชีค่าจ้างไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกหรือพนักงานคนใดในบริษัท หรือนำออกนอกบริษัท หรือมีบุคคลภายนอกล่วงรู้ความลับดังกล่าวหรือมีบริษัทใดมาชักชวนพนักงานที่มีความรู้ความสามารถของจำเลยออกไป การกระทำของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้างในกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9009-9014/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อายุความ และการโต้แย้งดุลพินิจศาลแรงงาน ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่เคยประสบภาวะขาดทุนและไม่ปรากฏว่าแนวโน้มในการประกอบกิจการของจำเลยในปีต่อๆไป จะประสบภาวะวิกฤติจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต มิใช่ให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงอื่นนอกจากที่รับฟังไว้แล้ว จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกครบถ้วนแล้ว เมื่อคำนึงถึงอายุงานที่โจทก์ทั้งหกทำงานกับจำเลยมาคนละหลายปี แต่โจทก์ทั้งหกก็มีอายุไม่มากนักยังสามารถหางานทำใหม่ได้ และมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างมิได้เกิดจากการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้ว มิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายตามจำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งหกบรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 แต่เป็นกรณีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: เหตุผลความเสียหายจากการลาป่วยต่อเนื่องและการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นว่า ม. ไม่มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย ทั้งจำเลยยังให้การรับในคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
โจทก์เป็นหัวหน้าพนักงานขายต้องควบคุมดูแลพนักงานขายในการจำหน่ายสินค้าเพื่อหารายได้ให้แก่จำเลย แต่กลับลาป่วยทั้งเดือนไม่ได้มาทำงานเลยย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมฟ้องหนี้หลายสัญญา การแยกฟ้องที่ไม่ชอบ และการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยืนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยใช้สัญญาบัญชีเดินสะพัด และสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินรวมกันมากับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์ที่จำนองซึ่งโจทก์ชำระแทนจำเลยไปก่อน และมีคำขอให้บังคับจำนองแก่ทรัพย์ที่จำเลยนำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งตามสำเนาสัญญาจำนอง ระบุว่า จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้า โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทใดเป็นจำนวนเท่าใด การที่ศาลจะพิพากษาบังคับจำนองได้หรือไม่เพียงใด จำต้องพิจารณาก่อนว่ามูลหนี้ตามสัญญาแต่ละฉบับเมื่อรวมกันแล้วมียอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงชอบที่จะนำมูลหนี้ตามสัญญาทุกฉบับมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องเป็นคดีเดียวกันและชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. ได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี กับให้เสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าการรวมพิจารณาข้อหาเหล่านี้เข้าด้วยกันจะเป็นการไม่สะดวกโดยศาลชั้นต้นไม่ได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 วรรคสอง และมีผลให้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นโดยโจทก์ไม่ควรจะต้องเสีย จึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การสั่งให้โจทก์แยกฟ้องแต่ละข้อหาออกเป็นแต่ละคดี กับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีที่แยกฟ้อง รวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอาศัยเหตุที่โจทก์ไม่ดำเนินการแยกฟ้องตามคำสั่งศาลดังกล่าวแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบไปด้วย
เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เพราะเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มิได้แก้ไขมานั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ปัญหาที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบดังกล่าวมานั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 49/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: เหตุผลความน่าเชื่อถือของลูกจ้างเป็นปัจจัยประกอบการวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ดังนั้น การจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานจะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่มิใช่การกระทำหรือความผิดของลูกจ้างก็ได้ ดังนั้น แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงในกรณีทุจริตต่อหน้าที่หรือกรณีกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไล่โจทก์ออกได้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์ส่งเงินค่าผ่านทางขาดมาก่อนเป็นประจำ ผู้บังคับบัญชาตักเตือนแล้วโจทก์ยังส่งเงินค่าผ่านทางขาดอีกหลายครั้ง ก่อนที่จะเลิกจ้างโจทก์จำเลยที่ 1 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยโจทก์แล้วย่อมมีเหตุอันควร ที่จำเลยที่ 1 จะไม่ไว้ใจให้โจทก์ทำงานเป็นพนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 ได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4535/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งนายจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และสิทธิของลูกจ้าง
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย ขอให้จำเลยส่งเงินเดือนของ ส. ให้ตามคำสั่งอายัด โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทย่อมมีหน้าที่จัดการกิจการภายในของบริษัท จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดดังกล่าว แต่จำเลยกลับมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ส่งเงินตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้โจทก์ทำหนังสือลงนามแจ้งว่า ส. ไม่ได้ทำงานในบริษัทจำเลย เพื่อปฏิเสธไม่ส่งเงินตามคำสั่งอายัดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ การที่โจทก์ไม่ทำตามคำสั่งจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวยังเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 อีกด้วย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4533/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม: เหตุผลการเลิกจ้างต้องสมควร แม้มีสิทธิเลิกจ้างตามสัญญา
การที่จะพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 หรือไม่นั้น หาใช่พิจารณาแต่เพียงว่านายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีการเลิกจ้างดังกล่าวมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้เป็นระบบทางคอมพิวเตอร์ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุว่าโครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันจำเป็นและสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์
โจทก์แก้อุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง จึงชอบที่จะทำเป็นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์แล้วแต่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเป็นที่สุด ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยคำแก้อุทธรณ์โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษทางวินัยต้องสอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำ หากการกระทำไม่ร้ายแรง การไล่ออกถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะกำหนดว่าพนักงานและลูกจ้างผู้ใดดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่การงาน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่โจทก์ออกไปดื่มสุราเพียงเล็กน้อยนอกที่ทำการในขณะใกล้หมดเวลาการทำงานแล้ว เหลือเพียงแต่รอเวลาทำหน้าที่กรรมการปิดตู้นิรภัยเท่านั้น ไม่มีอาการมึนเมาสุรา โจทก์มิได้กล่าวคำขู่อาฆาตผู้บังคับบัญชาเพียงแต่โต้เถียงกันเล็กน้อย ทั้งโจทก์ยังสามารถกลับมาร่วมปิดตู้นิรภัยได้โดยไม่ได้ทำให้งานในหน้าที่เสียหาย ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำผิดใดจะถือเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นราย ๆ ไป หาใช่เมื่อดื่มสุราแล้วแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นความผิดร้ายแรงทันที การกระทำผิดของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง การลงโทษโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 69 ซึ่งให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ตัดเงินค่าจ้าง ลดขั้นเงินเดือนหรือลดค่าจ้างตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมแก่ความผิดเท่านั้น ไม่มีกรณีต้องให้ออกจากงาน การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษโดยให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการลงโทษที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น ตามคำสั่งที่ 5173/2545 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราเดิมนั้น แม้โจทก์จะกระทำความผิดและการลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นตามคำสั่งที่ 5173/2545 จะชอบด้วยข้อบังคับข้อ 69 แต่จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ 51238/2545 ให้ยกเลิกโทษตามคำสั่งที่ 5173/2545 ไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ยังมิได้ถูกลงโทษสำหรับความผิดที่โจทก์กระทำ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่จ่ายเงินตามที่จำเลยที่ 1 อ้างได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจฐานทุจริตหน้าที่ ศาลยืนตามคำสั่งเลิกจ้าง ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ขณะที่ ล. พนักงานทำความสะอาดภายในเครื่องบินจัดกระเป๋าหลังเก้าอี้ที่นั่งผู้โดยสารพบเครื่องเล่นซีดีที่ผู้โดยสารลืมทิ้งไว้ แต่ไม่ได้แจ้งส่งคืนตามระเบียบ แม้ถูกทวงถามก็ไม่ยอมบอกกล่าวแก่ผู้ค้นหา กลับนำเครื่องเล่นซีดีไปซุกซ่อนไว้ในถุงเก็บขยะที่ตนเป็นผู้ครอบครองดูแลอยู่ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่โดยมีเจตนาจะนำเครื่องเล่นซีดีดังกล่าวเก็บซุกซ่อนแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนต่อไป การกระทำของ ล. จึงเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขั้นไล่ออก การที่โจทก์เลิกจ้าง ล. จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 37 โจทก์มีอำนาจเลิกจ้าง ล. ได้ตามมาตรา 37 (1) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ
คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ 5/2546 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2546 และให้โจทก์เลิกจ้าง ล. ตามที่โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างไว้แล้ว ผลแห่งคดีคือโจทก์ชนะคดีนี้ เพราะฉะนั้นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ตามคำร้องของ ล. ที่ยื่นต่อจำเลยทั้งสิบห้านั้นไม่เข้าข่ายมาตรา 37 และ ล. ไม่ใช่สมาชิกของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ล. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายอันจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จำเลยได้ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องของ ล. ไว้พิจารณา ถึงแม้จะวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3168/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: การกระทำผิดระเบียบบริษัทเป็นเหตุเลิกจ้างได้ อุทธรณ์เรื่องกระบวนการสอบสวนไม่กระทบผลคำพิพากษา
โจทก์กับพวกพาผู้หญิงไทยสองคนซึ่งใช้หนังสือเดินทางของบุคคลอื่นเพื่อเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้โจทก์กับ ส. และผู้หญิงไทยทั้งสองคนเข้าประเทศญี่ปุ่น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบบริหารงานบุคคลของบริษัทจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยมิได้ดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและสั่งการต่อไปภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือมิได้ขอขยายเวลาสอบสวนตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลข้อ 17.4 หรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้ดำเนินการพิจารณาและ/หรือสอบสวนและพิจารณาให้แล้วเสร็จ แล้วรายงานต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์และมิได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาพิจารณาตามระเบียบดังกล่าวข้อ 24.3 ก็ย่อมไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เปลี่ยนแปลงไปอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
of 48