โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2533 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเลขที่ จี (เอ) เนื้อที่ 24 ตารางเมตรอาคารชุดปิ่นเกล้าพลาซ่าคอนโดมิเนียมจากจำเลยในราคา552,000 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระเงินมัดจำให้จำเลยตามสัญญาแล้ว 6 งวด เป็นเงิน 193,200 บาท เมื่อถึงกำหนดนัดโอนจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้เนื่องจากการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ จำเลยเพิกเฉยโจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน193,200 บาท นับจากวันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย67,620 บาท และขอคิดค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์จากการนำห้องชุดออกให้ผู้อื่นเช่าเป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 310,820 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 310,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 193,200 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาการที่จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อในเดือนพฤศจิกายน 2533 ได้เนื่องจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองอาคารชุดดังกล่าวไม่ยอมให้จำเลยไถ่ถอนห้องชุด ซึ่งจำเลยก็ได้มีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องให้ผู้ซื้อรวมทั้งโจทก์ทราบแล้ว ต่อมาจำเลยได้ติดต่อนัดลูกค้ารวมทั้งโจทก์ให้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์พร้อมกันในวันที่ 21 ตุลาคม 2537 แต่โจทก์ไม่ไปโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและเรียกเงินมัดจำจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 260,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 193,200 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามเอกสารหมาย จ.2 วัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญามิได้ถือผลสำเร็จจากการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 เพราะมิได้ระบุวันที่แน่นอนในการโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ในสัญญาเพียงแต่ระบุว่าโอนกันเดือนพฤศจิกายนซึ่งในทางปฏิบัติจำเลยจะแจ้งวันโอนที่แน่นอนให้โจทก์ทราบเพื่อไปทำการโอนมิใช่จะต้องโอนในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 และเมื่อพ้นกำหนดแล้วโจทก์ก็มิได้เรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ให้ แต่กลับปล่อยไว้นานเกือบ 5 ปีจึงบอกเลิกสัญญาและขอมัดจำคืน พฤติกรรมดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยมิได้ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญในการชำระหนี้ การเลิกสัญญาจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 นั้น เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย จ.2 ทำเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2533 ระบุวันเดือนปีในการชำระเงินมัดจำไว้ 6 งวด เริ่มงวดแรกวันที่ 15 มีนาคม 2533งวดสุดท้ายวันที่ 15 สิงหาคม 2533 ส่วนที่เหลือ 358,800 บาทกำหนดชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ และหมายเหตุว่าโอนกันเดือนพฤศจิกายนตามข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าได้กำหนดเวลาในการชำระหนี้และโอนกรรมสิทธิ์ไว้แล้ว การเลิกสัญญาจึงมิต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387ก่อนแต่บอกเลิกสัญญาได้เลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 388
ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ทราบปัญหาเรื่องบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ไม่ยินยอมให้จำเลยไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาท แต่มิได้ดำเนินการอะไร แสดงว่าโจทก์ยินยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลย ระยะเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจึงมิใช่สาระสำคัญของสัญญา จำเลยจึงยังมิได้ผิดสัญญานั้นเห็นว่าการที่จำเลยมีปัญหากับบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัดแล้วโจทก์มิได้ดำเนินการอย่างไร จะถือว่าโจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยย่อมไม่ถูกต้อง การที่จำเลยมีปัญหากับบริษัทไทยประกันชีวิตจำกัด แล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาไม่ได้เป็นความผิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ได้ตามกำหนดเวลาในสัญญาจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยได้มีหนังสือนัดโอนห้องชุดพิพาทตามเอกสารหมาย ล.2 ถึงโจทก์แต่โจทก์เพิกเฉยไม่มารับโอนเพราะโจทก์ทำการค้าขาดทุนจึงไม่มีเงินมารับโอนโจทก์จึงหาเหตุเลิกสัญญาย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่าหนังสือนัดโอนห้องชุดตามเอกสารหมาย ล.2 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2537เป็นหนังสือที่จำเลยมีไปถึงโจทก์หลังจากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาซึ่งกำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2533เป็นการกระทำของจำเลยหลังจากที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว ดังนั้น หนังสือที่จำเลยนัดให้โจทก์มารับโอนห้องชุดพิพาทหลังจากจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์แล้วย่อมไม่มีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นผู้ผิดสัญญาแทนจำเลยไปได้
พิพากษายืน