กรณีสืบเนื่องจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยรวม ๗,๐๐๐ บาท จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยแพ้คดีตามฟ้องและให้ส่งคำบังคับโดยให้ปิดไว้ที่บ้านเรือนจำเลย เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๒ โจทก์ได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินจำเลยซึ่งอยู่ที่บ้านหนองผักแว่น ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๒ จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่าภายหลังเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ไปปิดที่บ้านเรือนจำเลยแล้ว จำเลยจึงได้ทราบว่าถูกฟ้องคดี เพราะฟ้องไม่ได้ระบุตำบลที่อยู่ของจำเลยให้ถูกต้อง ทั้งมิได้ระบุเลขบ้านด้วยซึ่งความจริงจำเลยอยู่บ้านเลขที่ ๔๙๒ หมู่ ๒ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง ห่างไกลจากตำบลที่อยู่ตามฟ้องมาก จำเลยจึงไม่ทราบถึงการปิดคำบังคับและการปิดหมายบังคับคดี หากจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีก็จะไม่แพ้คดี จึงขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ขอมีพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจมายื่นคำคอพิจารณาใหม่ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันทราบคำบังคับ จึงขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยได้แสดงเหตุล่าช้าอันเนื่องมาจากพฤติการณ์นอกเหนือที่จำเลยไม่อาจรู้ด้ แต่เมื่อจำเลยได้ทราบเรื่องตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๒ อันถือว่าพฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยมายื่นคำขอให้พิจารณาคดีเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลย ๑๕ วันมาแล้ว จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า จำเลยยังอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่ถูกยึดทรัพย์ตามความตอนท้ายของมาตรา ๒๐๘ วรรคแรก
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ กำหนดระยะเวลาแก่คู่ความในการใช้สิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้เป็นลำดับกล่าวคือ ในประการแรกจะต้องยื่นคำขอต่อศาลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือวิธีอื่นแทน ก็ให้นับแต่เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำกำหนดนั้นแล้ว ในประการที่สอง หากมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันเป็นเหตุให้คู่ความนั้นไม่อาจยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาที่บังคับไว้ในประการแรกนั้นแล้ว คู่ความนั้นยังอาจมีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลง ฉะนั้น แม้ความในตอนท้ายแห่งบทบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติต่อไปว่า "แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น" ก็ดี จำเลยก็จะยื่นคำขอให้มีการพิจารณาคดีนี้ใหม่ภายในหกเดือนนับแต่วันที่จำเลยถูกยึดทรัพย์ โดยอาศัยบทบัญญัติที่ว่านี้เช่นที่จำเลยฎีกาขึ้นมาหาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงบทกำหนดระยะเวลาไว้ว่า แม้จะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ หากพฤติการณ์นอกเหนือนั้นเองทำให้การยื่นคำขอล่าช้าเกินกว่า ๖ เดือน นับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นจะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้ และกำหนดระยะเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง ที่ให้สิทธิคู่กรณียื่นคำขอพิจารณาใหม่ในกรณีที่สองดังกล่าวนั้น ก็ต้องอยู่ในบังคับกำหนดเวลา ๖ เดือน ตามความในตอนท้ายของวรรคแรกแห่งบทบัญญัตินี้ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอพิจารณาใหม่เกินกว่ากำหนดเวลา ๑๕ วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้จะยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา ๖ เดือนของวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยก็ตาม จำเลยก็หามีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่อีกไม่
พิพากษายืน.