โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ชิงทรัพย์เงินสด 40 บาทของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในรถโดยสารประจำทางอันเป็นยวดยานสาธารณะไป ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 และคืนเงินสด 40บาท ของกลางแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคแรก จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปีให้จำเลยคืนเงิน 40 บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ในยวดยานสาธารณะจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสอง บัญญัติว่า 'ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335 ผู้กระทำต้องระวางโทษ.....' และมาตรา 335 (9) บัญญัติว่า 'ผู้ใดลักทรัพย์.....(9)......ในยวดยานสาธารณะ.......' มาตรา335 วรรคสองจึงเป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษผู้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หนักขึ้นหากการชิงทรัพย์นั้นเข้าลักษณะดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 335 ซึ่งความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นการใช้กำลังประทุษร้ายเป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้นการที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการดึงตัวผู้เสียหายให้ลงมาจากรถ แม้จำเลยจะบังคับเอาทรัพย์จากผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายลงมาจากรถและจำเลยยืนอยู่นอกรถก็ตาม แต่การชิงทรัพย์นั้นได้เริ่มเกิดขึ้นตึ้งแต่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายในขณะที่ผู้เสียหายยังอยู่บนรถ ซึ่งเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องไม่ขาดตอน กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ในยวดยานสาธารณะดังที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.