โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172,173, 174, 267, 268, 310, 397 และมาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหามีว่า การแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 137, 172, 173, 174 และ310 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า โจทก์ไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายในเช็คทั้งห้าฉบับมอบให้คุณหญิงศิริพันธ์คุณหญิงศิริพันธ์มีฐานะดีมีเงินฝากในธนาคารหลายล้านบาทไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปแลกเงินสดจากจำเลย และจำเลยไม่มีเงินพอที่จะให้คุณหญิงศิริพันธ์นำเช็คมาแลกเงินสดไปถึง 600,000 บาทความจริงจำเลยซึ่งเป็นทนายความรับสมอ้างว่ารับแลกเช็คแล้วไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายไม่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 เพราะโจทก์ไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายเช็คทั้งห้าฉบับเป็นเช็คเก่า โจทก์ซื้อจากธนาคารตั้งแต่ปี 2520ถึง 2522 ตามเอกสารหมาย จ.11 โจทก์มอบให้คุณหญิงศิริพันธ์เพื่อประกันหนี้เงินกู้ตั้งแต่ปี 2520 ถึง 2523 เช็คหมาย จ.6, จ.7และ จ.21 มีวันที่ที่มอบเช็คให้คุณหญิงศิริพันธ์เขียนไว้ด้านหลังเช็คด้วย คือวันที่ 28 สิงหาคม 2521 วันที่ 10 เมษายน 2520 และวันที่ 28 มกราคม 2523 ตามลำดับ จำเลยนำสืบว่า เมื่อปลายปีพ.ศ. 2528 โจทก์นำเช็คทั้งห้าฉบับไปแลกเงินสดจากคุณหญิงศิริพันธ์โดยลงวันสั่งจ่ายในเช็คมาแล้ว ต่อมาปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2529 คุณหญิงศิริพันธ์นำเช็คทั้งห้าฉบับไปแลกเงินสดจากจำเลย จำเลยได้เงินมาจากค่านายหน้าในการจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศ ขณะรับเช็คไม่ได้ตรวจว่าด้านหลังเช็คมีข้อความอะไรเขียนไว้หรือไม่ เห็นว่าในข้อนี้จำเลยนำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่าไม่ได้สังเกตเช็คมาก่อน ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของคุณหญิงศิริพันธ์ครั้งแรกว่าโจทก์นำเช็คพิพาทสี่ฉบับไปแลกเงินสดเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2528 โดยโจทก์ลงวันสั่งจ่ายในเช็คต่อหน้าตน แต่ต่อมาวันที่ 17 กันยายน 2529 หลังจากจับโจทก์ซึ่งโจทก์ยืนยันจะสู้คดีจนถึงที่สุดแล้วและเป็นวันเดียวกันกับที่จำเลยถอนคำร้องทุกข์คุณหญิงศิริพันธ์ได้ให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์นำเช็คพิพาทมาให้โดยลงวันสั่งจ่ายมาก่อนแล้ว ไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายต่อหน้าตนจึงเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อพิจารณาเช็คหมาย จ.6 ถึง จ.9 แล้วเห็นได้ว่าวันสั่งจ่ายในเช็คแต่ละฉบับมีสีหมึกและลายมือแตกต่างจากข้อความอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดแสดงว่าเป็นการเขียนคนละคราว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 อีกว่าโจทก์ซื้อเช็ค จ.6, จ.8 และ จ.9 จากธนาคารเมื่อวันที่ 5 กันยายน2521 วันที่ 16 เมษายน 2522 และวันที่ 12 กันยายน 2522 ตามลำดับเมื่อฟังประกอบกับวันที่ที่เขียนไว้ด้านหลังเช็คโดยจำเลยไม่นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นและเช็คอยู่ในความครอบครองของคุณหญิงศิริพันธ์และจำเลยก่อนจะส่งพนักงานสอบสวนและศาลจึงเชื่อได้ว่ามีการเขียนวันที่ดังกล่าวมาแต่เดิม นับถึงวันสั่งจ่ายในเช็ค จ.6 ถึง จ.9 เป็นเวลา 6 ถึง 9 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้านานถึงเพียงนั้น แสดงให้เห็นว่าที่คุณหญิงศิริพันธ์อ้างว่าโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปมอบให้เมื่อปี 2528 โดยลงวันสั่งจ่ายมาแล้วจึงไม่น่าเชื่อ รับฟังไม่ได้ฟังได้ว่าโจทก์มอบเช็คให้คุณหญิงศิริพันธ์ตั้งแต่ปี 2520 ถึง2523 โดยไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายในเช็คทั้งห้าฉบับ ส่วนเรื่องการแลกเช็คระหว่างคุณหญิงศิริพันธ์กับจำเลยนั้นปรากฏจากเอกสารหมาย จ.19ประกอบคำเบิกความของนายสุบิน ทั่วทิพย์ สมุห์บัญชีธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาถนนตะนาว ได้ความว่า จำเลยมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารดังกล่าวแต่เงินในบัญชีเคยมีฝากสูงสุดเพียง 250,000 บาทแล้วถอนออกจากบัญชีในวันรุ่งขึ้นจากวันที่ฝากเงิน นอกจากนั้นในช่วงเดือนมกราคม 2529 ที่จำเลยอ้างว่ารับแลกเช็คจากคุณหญิงศิริพันธ์ จำเลยมีเงินในบัญชีเพียงไม่กี่พันบาทไม่มากพอที่จะสามารถรับแลกเช็คเป็นเงินถึง 600,000 บาท จำเลยนำสืบลอย ๆว่าได้เงินมาจากการเป็นนายหน้าส่งคนงานไปต่างประเทศ และไม่มีหลักฐานอื่นใดที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีฐานะการเงินดีพอที่จะมีเงินให้คุณหญิงศิริพันธ์นำเช็คมาแลกเงินสด ปรากฏจากคำเบิกความของคุณหญิงศิริพันธ์ในคดีแพ่งตามเอกสารหมาย จ.31 ว่าคุณหญิงศิริพันธ์ได้นำเช็คไปแลกเงินสดจากจำเลยเพราะขาดเงินสดคงมีแต่เงินฝากประจำในธนาคาร ซึ่งหากถอนก่อนกำหนดจะไม่ได้ดอกเบี้ยซึ่งก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ปรากฏว่า หากถอนเงินฝากออกมาแล้วจะไม่ได้ดอกเบี้ยเป็นเงินเท่าใด ทั้งที่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าต้องเสียค่าปากถุงให้จำเลยถึง 40,000บาทเศษ พยานจำเลยดังกล่าวจึงขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักรับฟังไม่น่าเชื่อว่าคุณหญิงศิริพันธ์จะนำเช็คไปแลกเงินสดจากจำเลยประกอบกับพฤติการณ์ในวันที่จำเลยแจ้งตำรวจจับกุมโจทก์ ก็ได้ความว่าในวันดังกล่าวคุณหญิงศิริพันธ์ได้นัดโจทก์ไปพบโดยอ้างว่าจะคุยกันเรื่องที่ดินที่โจทก์บอกขาย แต่เมื่อโจทก์ไปถึงได้มีการทวงถามเรื่องเช็คให้โจทก์เปลี่ยนเช็คฉบับใหม่แทนเช็คฉบับเดิมเมื่อโจทก์ไม่ยอมจึงส่งสัญญาให้จำเลย จำเลยจึงปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับอ้างตัวเองเป็นผู้ทรงเช็คและอ้างสำเนารายงานประจำวันหมาย จ.1 เพื่อให้โจทก์เปลี่ยนเช็คฉบับใหม่มิฉะนั้นจะจับกุมโจทก์แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับคุณหญิงศิริพันธ์มีการนัดแนะกันมาก่อนข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้รับแลกเช็คจากคุณหญิงศิริพันธ์จริง จำเลยเป็นทนายความย่อมเห็นความผิดปกติของเช็คดังวินิจฉัยมาข้างต้นและรู้ดีว่าเช็คไม่ได้ลงวันสั่งจ่าย ไม่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497โดยเห็นได้ว่าหลังจากที่โจทก์ไม่ยอมเปลี่ยนเช็คให้ใหม่แทนเช็คฉบับเดิมและมีทนายความมาแจ้งว่าจะสู้คดีและอาจจะฟ้องร้องจำเลยด้วยจำเลยจึงได้ถอนคำร้องทุกข์เสีย โดยอ้างว่าคุณหญิงศิริพันธ์ชำระเงินตามเช็คให้แล้ว โดยเบิกเงินจากบัญชีของนางวรพิมพ์ถิระวัฒน์บุตรสาวคุณหญิงศิริพันธ์ แต่ตามภาพถ่ายเช็คหมาย จ.29จำนวน 5 ฉบับ ที่อ้างว่าถอนเงินมาให้จำเลยนั้น ปรากฏว่ายอดเงินที่ถอนจากบัญชีตามเช็คแต่ละคราวไม่ตรงกับยอดเงินที่อ้างว่าชำระให้จำเลย บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีที่ใช้เช็คสั่งจ่ายเบิกเงินจากบัญชีได้ แต่เหตุใดจึงไม่สั่งจ่ายเช็คมอบให้จำเลยไปเบิกเงินเองซึ่งเป็นการสะดวกกว่าที่จะเบิกเงินสดจำนวนเป็นแสนบาทแล้วจึงนำไปมอบให้จำเลย และในการชำระเงินให้จำเลยดังกล่าวนางวรพิมพ์ก็เบิกความกลับไปกลับมา กล่าวคือ ครั้งแรกว่าตนเป็นผู้นำเงินไปชำระให้จำเลย ตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วกลับว่าจำเลยไปรับเงินที่บ้านคุณหญิงศิริพันธ์แล้วกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านอีกว่า ตามภาพถ่ายเช็ค จ.29 เป็นเช็คที่ตนสั่งจ่ายให้สามีเป็นผู้ดำเนินการเอาเงินจำนวนหนึ่งชำระหนี้ให้จำเลย แต่ด้านหลังเช็ค 5 แบบ ฉบับดังกล่าวมีชื่อผู้รับเงินตามเช็คถึง 4 คน มิได้เป็นสามีนางวรพิมพ์ดังอ้าง ดังนี้จึงเป็นพิรุธไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการชำระเงินคืนจำเลยจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ การที่จำเลยซึ่งไม่ได้รับแลกเช็คจากคุณหญิงศิริพันธ์จริงเพียงแต่รับสมอ้างดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย การไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.1 ว่าเป็นผู้ทรงเช็คไม่ว่าจะโดยรับมาจากโจทก์หรือคุณหญิงศิริพันธ์ก็ตาม โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายในเช็คเป็นเช็คที่ไม่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ได้รับความเสียหายถูกจับกุมดำเนินคดีอันเป็นความผิดตามมาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสองอันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 137 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172 ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคแรกมาด้วยนั้น ความผิดฐานนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับเนื่องจากไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มาทั้งหมดไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ5,000 บาท หลังจากจำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยได้ไปถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีกับโจทก์ต่อไป นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนอยู่ในวิสัยที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ค่าปรับบังคับตามมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์