โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ปัญหามีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า โจทก์ให้จำเลยยืมเงิน 600,000 บาทไปทำการค้าขายโทรศัพท์ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ดังกล่าว ส่วนจำเลยอ้างว่าเป็นการร่วมลงทุนทำการค้าขายโทรศัพท์ด้วยกัน โดยโจทก์ลงทุนเป็นเงิน จำเลยลงทุนด้วยแรงงาน เห็นว่าในวันที่โจทก์นัดจำเลยไปรับเงิน 600,000 บาท ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาพลับพลาไชย คือวันที่ 4 เมษายน 2528 โจทก์ได้แนะนำและจัดการให้จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันโดยโจทก์สั่งจ่ายเช็คจำนวน 600,000บาท สำหรับให้จำเลยนำไปเปิดบัญชีเพื่อจำเลยจะได้สั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่า หากโจทก์เพียงแต่ให้จำเลยยืมเงินโดยไม่มีส่วนร่วมลงทุนในกิจการค้าขายโทรศัพท์แล้ว โจทก์ก็ไม่ต้องดำเนินการให้ยุ่งยากถึงเพียงนี้ เพราะขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างทางอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ถ้าเพียงแต่จะให้จำเลยยืมเงินโจทก์หาต้องโดยสารเครื่องบินเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการดังกล่าวไม่ เพราะเป็นการผิดปกติวิสัย โจทก์เบิกความว่าในวันที่ตกลงให้เงิน 600,000 บาท ที่แคมป์ก่อสร้างของโจทก์นั้นจำเลยไปกับเจ้าอาวาสวัดหนองหารจานและนายสมาน ทับทิมโกศลแต่นายสมานมาเบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันว่า มีข้อตกลงแบ่งส่วนกำไรจากการซื้อขายโทรศัพท์เป็น 3 ส่วน ให้เจ้าของเงินทุน 1 ส่วนวัดหนองหารจาน 1 ส่วน และผู้วิ่งเต้น (หมายถึงจำเลย) อีก 1 ส่วนทั้งโจทก์ก็ยังเบิกความด้วยว่า โจทก์ไม่รับรู้เรื่องทำบุญ ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะให้จำเลยยืมเงินโดยไม่ได้อะไรตอบแทนรูปคดีน่าเชื่อว่าโจทก์จำเลยตกลงเข้าหุ้นส่วนกันประกอบกิจการค้าขายโทรศัพท์ โดยโจทก์เป็นผู้ลงทุนด้วยเงินและจำเลยเป็นผู้ลงแรงงาน และการที่โจทก์ยอมให้เปลี่ยนเช็คเอกสารหมาย ล.3เป็นเช็คพิพาทหมาย จ.1 และปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง 5-6 เดือนนับแต่วันที่ลงในเช็คจึงนำเช็คไปขึ้นเงิน ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่าโจทก์ทราบถึงฐานะของจำเลยดีว่าจำเลยไม่สามารถใช้เงินตามเช็คได้เพราะยังขายโทรศัพท์ไม่ได้ เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน โดยมุ่งหมายให้เป็นประกันในการคืนทุนเมื่อเสร็จการของห้างหุ้นส่วนและเมื่อมีผลกำไร แต่การกลับปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนยังไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จการตามกำหนดและยังไม่มีผลกำไร เช่นนี้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คพิพาท การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3..."
พิพากษายืน.