คดีได้ความว่า โฉนดตราจองที่ 123 เดิมมีชื่อนายอยู่นางมีสามีภรรยาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายอยู่ตาย นางมีรับมรดก ครั้นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2491 เจ้าพนักงานได้ออกใบแทนโฉนด โดยโฉนดตราจองเดิมไฟไหม้ วันเดียวกันนั้นนายอึ้งได้โอนทะเบียนรับมรดก นางมีลงชื่อนายอึ้งเป็นผู้รับมรดกแต่ผู้เดียว โจทก์ในคดีนี้จึงฟ้องนางอึ้ง อ้างว่าที่รายนี้เป็นของ ด.ช.สมนึก โดยนายเหลือบิดาซึ่งได้ที่มาจากนางมี ทำพินัยกรรมยกให้ ด.ช.สมนึก นางอึ้งลอบไปขอใบแทนโฉนดตราจองโดยกล่าวเท็จต่อเจ้าพนักงานใส่ชื่อนางอึ้งในคดีนั้นคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมกัน โดยนายอึ้งยอมรับว่าที่ดินโฉนดตราจองที่ 123 เป็นกรรมสิทธิ์ของ ด.ช.สมนึกผู้รับมรดกนายเหลือตามพินัยกรรม ยอมให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินทำการเพิกถอนการโอนที่นายอึ้งได้ก่อขึ้นนั้นเสีย และจดทะเบียนโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ ด.ช.สมนึก ส่วนใบแทนโฉนดตราจองอยู่ที่นายตั้ง(คือจำเลยในคดีนี้) นายอึ้งขอผัดส่งเพื่อจัดการตามยอม ศาลได้พิพากษาและบังคับคดีไปตามยอมนั้น แต่ต่อมานายอึ้งแถลงต่อศาลว่าใบแทนโฉนดตราจองที่ฝากนายตั้งไว้ บัดนี้นายตั้งไม่ยอมส่ง โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ขอให้ส่งใบแทนโฉนด
ปรากฏตามเอกสารที่นายตั้งจำเลยส่งศาลว่า นายอึ้งได้ยืมเงินนายตั้งจำเลยไปสามพันบาท ให้ใบแทนโฉนดตราจองที่ 123 นี้ยึดไว้จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแล้ว จำเลยต่อสู้คดีว่าโจทก์จะเรียกโฉนดคืนโดยไม่ยอมชำระเงินตามสัญญา ไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งใบแทนโฉนดแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์มาฟ้องเรียกใบแทนโฉนดตราจองจากจำเลยในคดีนี้ ความประสงค์ก็เพื่อจัดการให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีแดงที่ 39/2492 ดังกล่าวเท่านั้นทั้งนี้หาเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยไม่ สิทธิของจำเลยในเรื่องนี้จะมีอยู่อย่างไร หรือจะมีอย่างไรต่อไป หลังจากการแก้ทะเบียนแล้ว ไม่เป็นประเด็นในคดีนี้ จำเลยจะไม่ยอมส่งใบแทนโฉนดตราจอง โดยอ้างอำนาจที่นายอึ้งให้ยึดไว้ต่างหนี้ไม่ได้ และความจริงการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 39/2492 นั้น ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะหมายเรียกใบแทนโฉนดตราจองนี้จากจำเลยเพื่อจัดการไปตามคำบังคับคดีของศาลได้อยู่แล้ว
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น