โจทก์ฟ้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าว่า จำเลยเลียนแบบ ขอให้จำเลยงดใช้และห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายนั้นต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนไว้ก่อนโจทก์ และว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยแตกต่างกัน ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนวันชี้สองสถานวันหนึ่ง โจทก์ขอแก้ฟ้องศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำเนาแก่จำเลย พอรุ่งขึ้นเป็นวันชี้สองสถาน ศาลแนะนำแล้วโจทก์ก็แถลงขอถอนฟ้อง จำเลยค้านว่า ทำให้จำเลยเสียหาย ไม่ควรอนุญาต ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่เสียหาย กลับเป็นผลดีแก่จำเลย จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๕ การถอนฟ้องเมื่อจำเลยให้การแล้วต้องทำเป็นคำร้อง โจทก์แถลงขอถอนด้วยวาจาไม่ได้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอีก จำเลยคัดค้านเช่นเดิม ทั้งสองฝ่ายรับกันว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีก ศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยอุทธรณ์อีก
ศาลอุทธรณ์เห็นไม่สมควรอนุญาตให้ถอนฟ้อง พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปแล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุที่โจทก์พยายามถอนฟ้องก็เพื่อให้เป็นโอกาสที่จะใช้สิทธิอื่น คำฟ้องจำเลยได้ใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖ รูปการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ จำเลยจึงคัดค้าน เพราะอาจทำให้จำเลยเสียหาย ดังนี้ ทางที่ควรจึงน่าจะดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นผลเสร็จเด็ดขาดไปในคดีนี้ จะยอมให้โจทก์ฟ้องแล้วไม่ชอบในขึ้นมาก็ยอมเสียไปฟ้องใหม่ ตามอำเภอใจของโจทก์ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลย
พิพากษายืน