ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การให้สัตยาบันสัญญาเช่าซื้อโดยปริยายและการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อ
โจทก์มอบอำนาจให้ จ.เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อต่าง ๆแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจได้ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะจากโจทก์ สาขาชัยนาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียวต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2532 ป.ผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์ สาขาชัยนาท ได้จัดส่งสัญญาดังกล่าวไปให้ จ.ซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์เรียบร้อยแล้ว แม้ จ.เพิ่งลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2531 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้ทักท้วง และในการลงชื่อของ จ.ก็มีตราบริษัทโจทก์ประทับ ทั้งยังมีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์หลายงวดและโจทก์รับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การลงชื่อของ จ.ในสัญญาเช่าซื้อโดยปริยายตาม ป.พ.พ.มาตรา 823 วรรคหนึ่ง จึงมีผลเสมือนว่า จ.ได้รับมอบหมายให้ลงชื่อแทนโจทก์มาตั้งแต่ต้น ดังนี้สัญญาเช่าซื้อจึงมีคู่สัญญาลงชื่อครบถ้วน ไม่เป็นโมฆะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อนั้นได้รวมค่าเช่ากับราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเข้าไว้ด้วยกัน การกำหนดราคาค่าเช่าซื้อดังกล่าวไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวโจทก์จะกำหนดโดยวิธีหักเงินชำระล่วงหน้าออกไปก่อนแล้วนำส่วนที่เหลือไปคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในจำนวน 48 งวด คือ 4 ปีคำนวณเป็นดอกเบี้ยเท่าใด บวกเข้ากับเงินที่ค้างชำระ จากนั้นเอา 4 ปีหารเป็นรายปีออกมาเป็นค่างวดก็ตาม ก็เป็นวิธีการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์โดยชอบ หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ