โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ลักพานางสาวเซ็กโหงว อายุย่าง 18 ปี ไปจากความปกครองของโจทก์ในทางชู้สาว นางสาวเซ็กโหงวได้เอาทรัพย์ของโจทก์ไปด้วย จึงขอให้จำเลยส่งตัวนางสาวเซ็กโหงว และส่งทรัพย์คืนหรือใช้ราคา จำเลยต่อสู้ว่า มิได้ลักพานางสาวเซ็กโหงวไปจากความปกครองของโจทก์ นางสาวเซ็กโหงวไปหาจำเลยที่บ้านเองและไม่ยอมกลับ จำเลยไม่ได้หน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ บัดนี้นางสาวเซ็กโหงวมีความกลัว จึงหนีไปแล้วก่อนโจทก์ฟ้อง นางสาวเซ็กโหงวไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์ติดตัวมา ศาลแพ่งพิจารณาไปบ้างแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยมีอายุไม่ครบ 20 ปี และยังไม่ได้ทำการสมรส เป็นบุคคลไม่มีความสามารถ แต่เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลเห็นสมควรให้ดำเนินคดีต่อไป และให้จัดการเรียกนายเต็กบิดาจำเลยมาเพื่ออนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีก่อนศาลพิพากษา แล้วศาลสืบพยานโจทก์ต่อไป เสร็จแล้วนัดสืบพยานจำเลย
วันที่ 23 กรกฎาคม 2489 นายเต็กแถลงยืนยันที่จะไม่ให้ความยินยอมให้จำเลยดำเนินคดีตามกฎหมายศาลแพ่งมีคำสั่งว่า การดำเนินคดีมาแล้วมีข้อหาบกพร่องในความสามารถ จึงให้เพิกถอนบรรดากระบวนพิจารณานับตั้งแต่คำให้การจำเลยตลอดมา และให้จำเลยยื่นคำให้การใหม่ภายใน 8 วัน จำเลยยื่นคำให้การใหม่มีข้อความทำนองเดียวกับคำให้การฉบับก่อน แต่กล่าวไว้ด้วยว่าบิดาจำเลยไม่ยินยอมให้จำเลยดำเนินคดี ศาลจึงไม่รับคำให้การจำเลย เพราะจำเลยไม่มีความสามารถ
โจทก์ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2491 ว่านายเต็กบิดาจำเลยต้องรับผิดร่วมกับจำเลย โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องเรียกนายเต็กมาเป็นจำเลยแทน ศาลสั่งให้หมายเรียก รุ่งขึ้นศาลแพ่งได้ออกหมายเรียกให้ โดยหมายถึงนายเต็ก แซ่โค้ว จำเลย ไม่ได้หมายเรียกในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนายซุ่นไล้ และในช่องชื่อของจำเลยในหมายก็ใส่ว่า นายซุ่นไล้ แซ่โค้ว กับพวกจำเลย
นายเต็ก แซ่โค้วให้การว่า เป็นบิดาและผู้ปกครองของจำเลยจำเลยยังไม่บรรลุนิติภาวะ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกนายเต็กเข้ามาเป็นจำเลยแทน เพราะจำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว
ในวันที่ 24 กันยายน 2489 นายเต็กในฐานะผู้ปกครองของนายซุ่นไล้ ผู้เยาว์ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อตัดฟ้องในคำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยแทนนายซุ่นไล้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า นายซุ่นไล้เป็นผู้เยาว์ไม่สามารถดำเนินคดีโดยลำพังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 จะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินกระบวนพิจารณาแทน ที่ศาลเรียกนายเต็กเข้ามาในคดีเพราะเป็นบิดานายซุ่นไล้จำเลย ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหาใช่ฐานะส่วนตัวไม่ จึงให้ยกคำร้อง นายเต็กได้โต้แย้งคำสั่งแล้วยื่นฟ้องอุทธรณ์คำสั่งนี้ ศาลแพ่งสั่งไม่รับเพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
ในวันที่ 24 ตุลาคม 2489 นายเต็กยื่นคำแถลงว่า พอใจในคำสั่งของศาลแพ่งที่ไม่รับอุทธรณ์ และขอคืนค่าธรรมเนียม
เมื่อพิจารณาแล้ว ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยส่งตัวนางสาวเซ็กโหงว กับทรัพย์ให้แก่โจทก์
นายซุ่นไล้และนายเต็กอุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับคดี
ในระหว่างอุทธรณ์ โจทก์นำยึดทรัพย์ของนายเต็ก ศาลแพ่งเห็นว่า นายเต็กเข้ามาเป็นจำเลยในคดีโดยศาลหมายเรียกเข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาแทนนายซุ่นไล้ผู้เยาว์ หาได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับนายซุ่นไล้ไม่ จึงให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ทุเลาการบังคับคดี
นายเต็กยื่นคำร้องว่า นางสาวเซ็กโหงวไปอยู่กับนายฮวด จำเลยไปเอาตัวมา นางสาวเซ็กโหงวก็ไม่ยอม นางสาวเซ็กโหงวจะไปอยู่กับโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับตัวไปเอง ศาลแพ่งไต่สวนแล้วเห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายไม่ยินดีรับตัวบุตรสาว จึงไม่มีเหตุอะไรจะบังคับให้ส่งตัวอีก
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่ง ส่วนข้อที่นายเต็กอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะข้อที่บังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์โดยยกข้อนี้เสีย นอกนั้นยืน ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีแล้ว ชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เด็ดขาดไปทีเดียว จึงให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นเสีย
นายซุ่นไล้ โดยนายเต็กผู้แทนโดยชอบธรรมฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจเรียกนายเต็กเข้ามาเป็นจำเลยแทนผู้เยาว์และในข้อที่ส่งตัวนางสาวเซ็กโหงว
นายเต็กผู้แทนโดยชอบธรรมของนายซุ่นไล้จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำสั่งของศาลแพ่งที่ให้งดการบังคับคดี และให้ศาลแพ่งดำเนินการบังคับคดีไปให้เด็ดขาด
ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่นายเต็กคัดค้านว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกนายเต็กมาเป็นจำเลยแทนผู้เยาว์ และศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ถอนอุทธรณ์พอใจแล้ว จึงอุทธรณ์อีกไม่ได้ตามมาตรา 226(2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยนายเต็กได้ร้องในวันที่ 10 มกราคม 2490 ว่าพอใจในการสั่งของศาลที่ไม่สั่งรับอุทธรณ์ ไม่ใช่พอใจที่จะไม่อุทธรณ์ ฉะนั้นเมื่อศาลแพ่งพิพากษาคดีแล้ว นายเต็กก็ยังอุทธรณ์ได้อยู่เพราะได้คัดค้านคำสั่งศาลแพ่งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แล้ว
เมื่อความปรากฏว่านายซุ่นไล้จำเลยเป็นผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(12) แล้ว กรณีก็ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ศาลแพ่งได้สอบถามนายเต็กซึ่งเป็นบิดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลย นายเต็กไม่ยอมให้ความยินยอม โจทก์จึงยื่นคำร้องลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2491 อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ขอให้เรียกนายเต็กแซ่โค้วมาเป็นจำเลย แทนจำเลยในคดีนี้ ในฐานะที่นายเต็กเป็นบิดาปกครองจำเลยอยู่ จึงเป็นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายเต็กเข้ามาเป็นจำเลยแทนจำเลยเดิม ไม่ใช่ให้เรียกนายเต็กเข้ามาเพื่อดำเนินคดีแทนนายซุ่นไล้ในฐานเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ฉะนั้น เมื่อศาลส่งหมายเรียกให้ จึงต้องเข้าใจว่าเรียกเข้ามาเป็นจำเลย ในหมายก็เป็นหมายเรียกให้แก้คดีโดยกล่าวว่านายเต็ก แซ่โค้ว เป็นจำเลย แต่เมื่อนายเต็กยื่นคำร้องลงวันที่ 24 สิงหาคม 2489 ศาลแพ่งกลับสั่งว่าศาลเรียกนายเต็กเข้ามาเพื่อเป็นบิดาจำเลย หาใช่ในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยแพ้คดี โจทก์นำยึดทรัพย์ของนายเต็ก ศาลแพ่งก็สั่งว่านายเต็กไม่ใช่จำเลย ยึดทรัพย์ของนายเต็กไม่ได้ แต่เมื่ออุทธรณ์นายซุ่นไล้กับนายเต็กอุทธรณ์ทั้งสองคน ศาลอุทธรณ์สั่งรับอุทธรณ์ในชั้นฎีกา นายเต็กฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้ดำเนินการบังคับคดี ศาลแพ่งก็สั่งรับฎีกาของนายเต็กอีก รวมความว่าโจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกนายเต็กมาเป็นจำเลยแทนนายซุ่นไล้ เพราะนายเต็กต้องรับผิดร่วมกับนายซุ่นไล้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ศาลแพ่งกลับถือว่านายเต็กเข้ามาในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ของนายซุ่นไล้ ไม่ใช่เข้ามาเป็นจำเลย เมื่อเข้ามาในคดีแต่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่ใช่เป็นคู่ความด้วย ก็ไม่อาจที่จะอุทธรณ์ฎีกาในท้องเรื่องในฐานะส่วนตัวได้ เรื่องที่เป็นมาจึงยังสับสนกันอยู่ ตามตัวบทกฎหมายการที่ผู้แทนโดยชอบ จะให้อนุญาตหรือยินยอมแก่ผู้เยาว์ที่จะดำเนินคดีหรือไม่ เป็นอำนาจของผู้แทนโดยชอบธรรม ศาลไม่มีอำนาจหมายเรียกเข้ามาในคดีฐานเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่ความให้มาดำเนินแทนผู้เยาว์การหมายเรียกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) เป็นการหมายเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความ (ดูถ้อยคำในตอนท้ายของมาตรา 57) ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการดำเนินคดีหรือไม่เข้าดำเนินคดีแทนผู้เยาว์ตามที่ควร ศาลจะตั้งผู้แทนเฉพาะคดีให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคท้ายก็ไม่ได้ เพราะเป็นบทบัญญัติเฉพาะแต่ในกรณีไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนโดยชอบธรรมทำหน้าที่ไม่ได้ แต่ถ้าในกรณีที่บิดาเป็นผู้ปกครองดังเช่นคดีนี้ ผู้เยาว์อาจขอต่อศาลให้รอคดีไว้ หรือศาลสั่งรอไว้เองก็ได้ โดยให้ผู้เยาว์ไปหาญาติสนิทมาดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1552 ถอนอำนาจบิดาในส่วนนี้ ฐานใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบเสียก่อนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ไม่ได้ห้ามไม่ให้ฟ้องผู้เยาว์ เป็นแต่ว่าถ้าถูกฟ้อง ผู้เยาว์จะดำเนินคดีไม่ได้เว้นแต่จะได้รับคำยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรมเข้าดำเนินคดีแทนเสียทีเดียว แต่ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ระวังผลประโยชน์ของผู้เยาว์ ก็ไม่ใช่ความผิดของโจทก์จะบังคับคดีโจทก์เขาไม่ได้ ศาลจึงชอบที่จะคอยระวังผลประโยชน์ของผู้เยาว์ให้ตามสมควร มิฉะนั้น เมื่อถูกฟ้องแล้วผู้เยาว์อาจต้องแพ้คดีเพราะผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมก็ได้ ฉะนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้เยาว์ศาลอาจจะแจ้งไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาและดำเนินการตามมาตรา 1552 นี้ก็ได้ เมื่อมีการถอนอำนาจแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่จะใช้มาตรา 56 วรรคท้ายได้ แต่ที่ศาลจะหมายเรียกผู้แทนโดยชอบธรรมให้มาแก้คดีแทนผู้เยาว์ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนไม่
ส่วนเรื่องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ไม่ให้ทุเลาการบังคับแล้ว ก็ชอบที่ศาลแพ่งจะดำเนินการบังคับไปถึงที่สุดนั้น ศาลฎีกาอธิบายว่า การบังคับคดีเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งส่วนการทุเลาการบังคับที่เป็นปัญหาในคดีนี้นั้น เป็นแต่เสียงว่าขอให้ศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่ให้ทุเลา ก็หมายความว่า ไม่ให้ถือเอาการอุทธรณ์เป็นการทุเลาการบังคับ แม้จะมีอุทธรณ์ก็ให้ศาลล่างดำเนินการบังคับคดีต่อไปส่วนศาลชั้นต้นจะดำเนินการบังคับคดีอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของศาลชั้นต้นตามอำนาจที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ไว้ไม่ใช่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับ เป็นการบังคับศาลชั้นต้นให้บังคับคดีโดยตัดอำนาจศาลชั้นต้นที่มีอยู่ในการบังคับคดีเสียเลย
อย่างไรก็ดี เวลานี้นางสาวเซ็กโหงวบรรลุนิติภาวะแล้วเพราะอายุย่างเข้า 21 ปีแล้ว แม้ในเวลาศาลอุทธรณ์พิพากษา นางสาวเซ็กโหงวจะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ดี แต่เมื่อบัดนี้นางสาวเซ็กโหงวบรรลุนิติภาวะแล้ว ประกอบทั้งประเด็นในเรื่องทรัพย์ก็มิได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่ศาลฎีกาจะพิพากษาบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ปกติคดีเช่นนี้ศาลฎีกาชอบที่จะจำหน่ายคดีเสีย แม้กรณีจะไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ศาลฎีกาก็ยังจำหน่ายได้ เพราะการจำหน่ายคดีนั้นไม่ใช่ว่าศาลจะจำหน่ายได้เฉพาะกรณีเข้ามาตรา 132 เท่านั้นถ้าหากไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะชี้ขาดแล้ว เช่นอย่างในคดีนี้เป็นต้นศาลก็จำต้องจำหน่าย แต่คดีนี้ศาลล่างได้ดำเนินการพิจารณามาสับสนกันอยู่ดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเพียงแต่จำหน่ายคดีโดยให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงไว้ หาชอบไม่ แต่จะให้ศาลล่างดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ก็ไม่ได้ โดยนางสาวเซ็กโหงวบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงพร้อมกันพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้จำหน่ายคดีนี้ออกเสียจากสารบบความ