ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ประกอบมาตรา 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 6ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 72 จำคุก 1 ปี ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยกศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 72 ด้วย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อหามีอาวุธปืนโดยไม่ได้อนุญาตคงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยเพียงฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 และศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยอาศัยข้อเท็จจริงโจทก์จึงฎีกาข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับกันมา" ฯลฯ
"และนอกจากนี้ข้อที่จำเลยอ้างว่าขณะเกิดเหตุปืนลั่นเพราะมีการแย่งปืนกันนั้นก็ได้ความจากตัวจำเลยเองว่าขณะเสียงปืนดัง มือจำเลยยังกำด้ามปืนอยู่ซึ่งแสดงว่าโกร่งไกปืนอยู่ทางด้านจำเลยอย่างไม่มีปัญหา ดังนั้นเองแม้หากจะเป็นดังจำเลยอ้างการที่ผู้เสียหายจะไปเหนี่ยวไกปืนซึ่งอยู่ด้านจำเลยย่อมเป็นไปได้ยากมาก แต่น่าจะเป็นเรื่องที่นิ้วจำเลยอยู่ในโกร่งไกปืนของจำเลยเองมากกว่า ดังนั้นเสียงปืนที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการที่จำเลยยิงปืนอย่างไม่มีปัญหาและการที่จำเลยกดมือที่ถือปืนลงและยิงขาผู้เสียหายถึง 2 นัดถูกที่ขาซ้ายและก้นข้างซ้าย จนผู้เสียหายต้องทำการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ถึง 1 เดือน แต่จนปัจจุบันก็ยังทำงานไม่ได้ตามปกติการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส และไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจากผู้เสียหายแต่เป็นเรื่องที่จำเลยโกรธผู้เสียหายเองโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นบันดาลโทสะดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากโจทก์ฎีกาขอให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ได้"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 โดยให้ลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์