โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 26 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม2530 จำเลยได้สร้างสะพานทางเดินคอนกรีตกว้าง 1.5 เมตร ยาวประมาณ36 เมตร รุกล้ำที่ดินของโจทก์ระหว่างโฉนดเลขที่ 6202, 2224 และ 2246ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเนื้อที่ 13.5 ตารางวา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสะพานทางเดินคอนกรีตและทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้สร้างสะพานทางเดินพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของบุคคลอื่น ที่ดินด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 6202, 2224 และที่ดินด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 2246 เป็นคลองสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยมีแนวคลองตามแนวสะพานทางเดินพิพาท คลองดังกล่าวกว้างประมาณ 6 เมตร ยาว 51.70 เมตรเดิมริมคลองด้านทิศตะวันออกซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์มีทางเดินเลียบคลองดังกล่าว ต่อมาน้ำท่วม ประชาชนได้ร่วมกันสร้างสะพานทางเดินเลียบคลองดังกล่าวเมื่อประมาณ 70 ถึง 80 ปี ที่ผ่านมาจนกระทั่งคลองดังกล่าวตื้นเขินไม่สามารถใช้สัญจรได้ ประชาชนจึงใช้สะพานทางเดินดังกล่าวตลอดมา เมื่อสะพานทางเดินไม้ชำรุดมากจำเลยจึงได้สร้างสะพานทางเดินพิพาทแทน หลังจากซื้อที่ดินทั้งสามแปลงแล้วโจทก์ได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินใหม่ ทำให้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินที่เคยเป็นคลองและใช้สร้างสะพานทางเดินพิพาท คลองและสะพานทางเดินพิพาทนี้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่า ที่ดินที่สร้างสะพานทางเดินพิพาทกว้าง 1.5 เมตร ยาวประมาณ 37.5 เมตร และที่ดินซึ่งเดิมเป็นคลองกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 51.7 เมตร ที่ไม่ได้ใช้สร้างสะพานทางเดินพิพาทรวมเนื้อที่ 77.5 ตารางวา ในโฉนดเลขที่ 6202, 2224 และ 2246 ของโจทก์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 6202, 2224 และที่ดินทางทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 2246 ไม่เคยมีทางเดินเลียบคลอง ไม่มีส่วนใดเป็นคลองหรือทางเดินสาธารณะ เพียงแต่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงบางเวลา ชาวบ้านเดินเข้าออกไม่สะดวก จึงขออนุญาตสร้างสะพานทางเดินไม้ผ่านที่ดินของโจทก์ ซึ่งโจทก์อนุญาตให้สร้างเป็นการชั่วคราวเท่านั้นฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินที่จำเลยใช้สร้างสะพานทางเดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอน จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศให้เป็นทางสาธารณะประเด็นแห่งคดีเดิมจึงมีว่าที่ดินที่จำเลยใช้สร้างสะพานทางเดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น ที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินที่สร้างสะพานทางเดินพิพาทกว้าง 1.5 เมตรยาวประมาณ 37.4 เมตร เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับทรัพย์พิพาทเดียวกันกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งส่วนนี้ย่อมเกี่ยวกับฟ้องเดิม และฟ้องแย้งในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินสองด้านของที่ดินที่ใช้สร้างทางเดินพิพาทในฟ้องเดิมนั้น ก็เป็นที่ดินติดเป็นผืนเดียวกันกับทางเดินพิพาท เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทกว้างยาวกว่าที่โจทก์ระบุมาในฟ้องเดิม และก็เป็นการตั้งสิทธิว่าถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิตามฟ้องเดิมโดยโจทก์อ้างว่าที่ดินที่จำเลยฟ้องแย้งในส่วนนี้ก็เป็นของโจทก์ ถือได้ว่าฟ้องแย้งในส่วนนี้มีส่วนสัมพันธ์กับฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา177 วรรคสาม และ 179 วรรคท้าย ฟ้องแย้งในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมเช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินที่ใช้สร้างทางเดินพิพาทกว้าง1.5 เมตร ยาวประมาณ 37.4 เมตร เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์