โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่สมคบกันพยายามปล้นทรัพย์และจำเลยที่ 2 กับ ที่ 3 มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 กับขอให้สั่งริบปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้ง 4 รับสารภาพฐานปล้น จำเลยที่ 2-3 รับสารภาพในข้อหามีปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2-3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 จำคุกจำเลยที่ 2-3 ในฐานนี้อีกคนละ 6 เดือน ของกลางริบ
จำเลยที่ 4 ผู้เดียวอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยร่วมกระทำผิด แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็ควรยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในข้อหาฐานพยายามปล้นทรัพย์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น แต่ข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาวางโทษจำเลยที่ 2-3 ฐานมีปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2-3 มีปืนของกลางไว้นั้นต่อมาได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 9 ผ่อนผันไม่เอาโทษแก่ผู้ที่นำอาวุธปืนที่มีอยู่ไปจดทะเบียนขอรับอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน การมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของจำเลยที่ 2-3 จึงไม่ต้องรับโทษ แม้จำเลยที่ 2-3 จะมิได้อุทธรณ์ขึ้นมาศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี และคดีนี้ก็ยังไม่ถึงที่สุด จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะในข้อที่ลงโทษจำเลยที่ 2-3 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาตนั้นเสีย ปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่ริบ
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2-3 ตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คงมีแต่จำเลยที่ 4 ซึ่งต้องหาฐานปล้นทรัพย์ผู้เดียวอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่า เป็นเหตุในลักษณะคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยเพราะการที่จำเลยที่ 2-3 มีอาวุธปืนนั้น จะมีโดยได้รับอนุญาตหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์และความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ก็เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจที่จะยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งเกี่ยวถึงจำเลยที่ 2-3 ได้ ศาลฎีกาพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2-3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น