โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณลานจอดรถสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)ด้านคลองผดุงกรุงเกษม โดยเช่าที่ดินนี้จากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเก็บค่าจอดรถกับจัดบริการรถแท็กซี่และรถสามล้อรับจ้างจำเลยที่ 1 ทรงสิทธิจัดการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางสาย 109 และสาย 113 ทั้งได้ยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารเข้าร่วมรับส่งผู้โดยสารในกิจการดังกล่าวตลอดจนแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปให้เข้าใจว่าเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองมีการแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โดยจำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 109 และสาย 113 ที่ตนใช้ร่วมรับส่งผู้โดยสารกับจำเลยที่ 1เข้ามาจอดในเขตพื้นที่เช่าของโจทก์และใช้พื้นที่เช่าของโจทก์เป็นท่าปล่อยรถสองสายดังกล่าว ซึ่งโจทก์เคยเสนอเก็บค่าจอดรถจากจำเลยที่ 2เป็นรายเดือนเดือนละ 20,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย การกระทำของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันพึงได้และโจทก์เสียหายเพราะรถของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักมาก ทำให้พื้นที่ถนนในเขตพื้นที่เช่าชำรุดเร็วกว่าปกติ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองมิให้นำรถยนต์โดยสารเข้ามาจอดหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าของโจทก์ และให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกเดือนละ20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดกระทำการละเมิดแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงเช่าพื้นที่จอดรถนิติกรรมระหว่างกันเป็นเรื่องผิดสัญญาเช่ามิใช่ละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เดิมจำเลยที่ 2 ใช้ที่ดินที่โจทก์เช่าข้างสถานีรถไฟดังกล่าวเพื่อจอดรถยนต์โดยสารชั่วคราวทั้งชำระค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท แต่ต่อมาโจทก์ขอขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งสูงเกินไปจำเลยที่ 2 จึงไม่เช่าต่อไปทั้งใช้พื้นที่นอกสัญญาเช่าของโจทก์พักรถชั่วคราวและเข้าจอดรับส่งผู้โดยสาร จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์หรือพื้นที่เช่าของโจทก์เสียหายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งค่าเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองนำรถยนต์โดยสารเข้ามาจอดหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 132,000 บาท และค่าเสียหายแก่โจทก์อีกอัตราเดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (10 ตุลาคม 2532) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดกระทำละเมิด ยกคำขออื่นนอกจากนี้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองนำรถยนต์โดยสารเข้ามาจอดหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าของโจทก์และขอให้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายในอนาคตอีกเดือนละ 20,000 บาทจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า เป็นเรื่องผิดสัญญาเช่ามิใช่ละเมิด โดยเดิมจำเลยที่ 2 เคยเช่าในราคาเดือนละ 10,000 บาทแต่ต่อมาโจทก์ขอขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งสูงเกินไปจึงไม่เช่าต่อ ดังนั้นจุดประสงค์ของคดีคือพิพาทกันเรื่องค่าเช่าที่ค้างและเงินค่าเสียหาย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้โจทก์มีคำขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองนำรถยนต์โดยสารเข้ามาจอดหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าของโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเพียงผลต่อเนื่องมาจากความประสงค์สำคัญที่ขอให้ศาลกำหนดเงินค่าเช่าและค่าเสียหาย คดีนี้จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นฎีกา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดต่อโจทก์และการที่จำเลยที่ 2 นำรถเข้าร่วมในกิจการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 จอดรถในบริเวณตามภาพถ่ายหมาย จ.4 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 132,000 บาทกับกำหนดค่าเสียหายอีกในอัตราเดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดกระทำละเมิดไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงหากจะมีการละเมิดจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว เป็นฎีกาที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงควรเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"
พิพากษายก ฎีกา จำเลย ทั้ง สอง