โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีของสมาคมกรรมการไทยในข้อหายักยอกเงินของสมาคมกรรมกรไทย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314, 71 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352, 352 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสามแสนบาทให้แก่สมาคมกรรมกรไทยด้วย
จำเลยปฏิเสธ
ศาลอาญาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยักยอกเงินของสมาคมกรรมกรไทยไปสามแสนบาทจริงตามฟ้อง จำเลยมีความผิดตามกฏประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 314, 319 โดยฐานมีหน้าที่โดยตรง แต่โจทก์ขอเพียงมาตรา 314 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำเลยยักยอกเงินสองครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมสองกระทง 5 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสามแสนบาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ยักยอกเงินของสมาคมกรรมกรไทยไปจริงตามฟ้อง จำเลยได้รับมอบโดยเฉพาะให้ไปรับเงินจากกรมประชาสงเคราะห์และรับมอบเช็คให้ไปเบิกเงินจากธนาคารแล้วจำเลยยักยอกเอาเสีย จำเลยจึงมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 ไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลย 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา 4 ข้อ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาดังกล่าวข้างต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้นั้น โดยมติที่ประชุมใหญ่ถือว่าแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาข้อ 1 ถึงข้อ 3 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้าม ส่วนฎีกาข้อ 4 ที่ว่า สมาคมกรรมกรไทยถูกคณะปฏิวัติขีดชื่อออกจากทะเบียนสิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว อัยการหมดอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยต่อไปนั้น จำเลยมิได้อุทธรณ์ จะยกขึ้นมาในชั้นฎีกาไม่ได้
ศาลฎีกาพิพากษายืน